คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7328/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาอยู่ด้วยคนหนึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้สิ้นเชิงหรือ แต่โดยส่วนก็ย่อมได้เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยโจทก์ไม่จำต้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 359,537.51 บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 368,930.91 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกคำบังคับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ต้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วยกัน แต่โจทก์ยื่นคำขอออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาเพียงคนเดียวเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับจำเลยที่ 2 และออกคำบังคับใหม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ศาลจะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 ก่อน เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้มีจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ด้วย โจทก์จึงต้องนำส่งคำบังคับไปยังจำเลยที่ 1 หรือทายาทของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนจึงจะดำเนินการบังคับคดีได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดีเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาอยู่ด้วยคนหนึ่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้สิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ย่อมได้เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยโจทก์ไม่จำต้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมกัน

พิพากษายืน

Share