แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
การที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไปเพียง 200,000 บาท มิใช่จำนวน 325,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียดของทรัพย์ที่ถูกจำเลยที่ 1 ยักยอก มิใช่การ แตกต่างกันในข้อเท็จจริงอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี โดยตลอดมิได้หลงต่อสู้คดีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับ ข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญและไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอก เกินคำขอแต่อย่างใด
เมื่อโจทก์ประกอบกิจการขายรถยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขา ดำเนินการติดต่อลูกค้าแทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองเงินที่นาย อ. ลูกค้าชำระให้โจทก์แล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น การกระทำความผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้เป็นของตน จำเลยที่ 1 จึงมี ความผิดฐานยักยอก แต่การทำสัญญาซื้อขายและการชำระราคารถยนต์เป็นเรื่องความไว้วางใจกันระหว่างโจทก์กับ ลูกค้าเป็นการเฉพาะราย มิใช่กับประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 354 คงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 เพียงมาตราเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๔, ๘๓, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๔ ประกอบมาตรา ๘๓ จำคุกคนละ ๓ ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๒ ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่ค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ เสียจากสารบบความ คดีคงขึ้นมาสู่ การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ ๑
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ต่อไปว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาเกินคำขอที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องและข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง หรือไม่
เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ระบุรายการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ แต่ละรายการเป็นกระทงความผิดต่างกัน ปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิดหรือไม่ ยักยอกเงินแต่ละรายการจำนวนเท่าใด เป็นเรื่องที่ศาลจะปรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไปเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท มิใช่จำนวน ๓๒๕,๐๐๐ บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียดของทรัพย์ที่ถูกจำเลยที่ ๑ ยักยอก มิใช่การแตกต่างกัน ในข้อเท็จจริงอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิด ทั้งคดีนี้จำเลยที่ ๑ ก็ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอดมิได้หลงต่อสู้คดีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินโจทก์ไปเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท มิใช่ ๓๒๕,๐๐๐ บาท ตามฟ้องจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ และไม่ใช่กรณีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินค่ารถยนต์ที่นายอัสอารี แลหะ ชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ การที่จำเลยที่ ๑ รับเงินไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์โดยอ้างว่าต้องการรอให้นายอัสอารีชำระส่วนที่เหลือก่อนแต่จำเลยที่ ๑ ได้ลาออกวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ จึงไม่ได้ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวล้วนเป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ที่ครอบครองเงินที่นายอัสอารีลูกค้าชำระให้โจทก์ แล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ตามหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้เป็นของตน จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานยักยอกตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๑ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ นั้น แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ประกอบกิจการขายรถยนต์โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการสาขา ดำเนินการติดต่อลูกค้าแทนโจทก์ก็ตาม แต่การทำสัญญาซื้อขายและการชำระราคารถยนต์เป็นเรื่องความไว้วางใจกันระหว่างโจทก์กับลูกค้าเป็นการเฉพาะรายมิใช่กับประชาชน ทั่วไป การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา ๓๕๔ จำเลยที่ ๑ คงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา ๓๕๒ เพียงมาตราเดียว ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำคุก ๙ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙