คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้ก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นและต่อมาได้ระบุเรื่องการหักเงินสะสมและการเข้าร่วมโครงการเงินสะสมไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยได้คำนวณดอกเบี้ยเงินสะสม และเงินสมทบตามวิธีการในเอกสารท้ายฟ้องมาเป็นเวลา 18 ปี แล้ว วิธีการคำนวณดังกล่าวย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกฎข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณซึ่งไม่เป็นคุณและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนได้

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 26
โจทก์ทั้งยี่สิบหกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งยี่สิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเคยมีระเบียบเกี่ยวกับการหักเงินสะสมพนักงานตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมาจำเลยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกแบบใหม่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนถึงปัจจุบัน ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกได้ดอกเบี้ยลดน้อยลง การที่จำเลยนำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบใหม่มาใช้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหก โจทก์ทั้งยี่สิบหกได้ทำหนังสือถึงจำเลย ขอให้จำเลยนำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมมาใช้แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม ขอให้บังคับจำเลยโดยให้นำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมมาใช้กับโจทก์ทั้งยี่สิบหกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งยี่สิบหกจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลย
จำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนให้การว่า จำเลยได้จัดทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของจำเลย ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2511 จำเลยตรวจสอบพบว่านับแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมาพนักงานของจำเลยได้ใช้วิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากที่จ่ายให้แก่พนักงานผิดพลาดไป โดยได้นำต้นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดมารวมคำนวณเป็นฐานการคิดดอกเบี้ย การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามวิธีการของธนาคาร เมื่อจำเลยทราบว่าได้มีการผิดพลาดเกิดขึ้น จำเลยจึงได้แจ้งให้โจทก์และพนักงานอื่นของจำเลยทราบถึงการคำนวณที่ผิดพลาด จำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจำเลยไม่ได้กระทำผิดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2511 เป็นต้นมาโดยหักค่าจ้างของลูกจ้างเป็นเงินสะสมและจำเลยจ่ายเงินสมทบด้วย ครั้นวันที่ 1 มกราคม 2525 จำเลยได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิเข้าร่วมโครงการเงินหักสะสมได้จำเลยเป็นผู้เก็บรักษาเงินสะสมและเงินสมทบ ทั้งคำนวณดอกเบี้ยให้ด้วย ซึ่งเดิมใช้วิธีการคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2535 จำเลยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยใหม่ตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบหกได้รับดอกเบี้ยน้อยลงกว่าที่เคยได้รับจากวิธีการคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แม้จะไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยไว้ แต่เมื่อจำเลยได้แต่งตั้งผู้คิดบัญชีเกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีอีกคนหนึ่งเป็นเวลา 18 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยทักท้วงแต่อนุมัติตลอดมาจึงไม่ใช่การคำนวณดอกเบี้ยผิดพลาด แต่เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยได้ตกลงโดยปริยายกับฝ่ายลูกจ้างของจำเลยให้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยสั่งเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณ ดอกเบี้ยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งยี่สิบหก จำเลยไม่อาจกระทำได้ พิพากษาให้จำเลยนำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบเดิมตามที่กำหนดไว้ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานธนาคารสหมาลายัน จำกัด สาขากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทุกคนจะพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่าวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยจึงมีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น เห็นว่า จำเลยได้ก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2511 และต่อมาจำเลยได้ระบุเรื่องการหักเงินสะสมและการเข้าร่วมโครงการเงินสะสมไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 13 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับพนักงานของจำเลยด้วย จำเลยได้คำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวิธีการในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาเป็นเวลา 18 ปีแล้ววิธีการคำนวณดอกเบี้ยเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกฎข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ ซึ่งไม่เป็นคุณและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งยี่สิบหกก่อนได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งยี่สิบหกสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share