คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7317-7318/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชกำหนดนี้ “ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย” แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ป. และบริษัท ซ. แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสอง และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ และเป็นผู้กู้ยืมเงินในความหมายของการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 แล้ว
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัท ป. และบริษัท ซ. โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปในอัตราดังกล่าวได้ จนจำเลยทั้งสองกับพวกได้เงินไป จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่นำมาปรับใช้แก่คดี
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (เดิม) แล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 5 อีก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ ๑ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๒
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนมีข้อความทำนองเดียวกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๓๔๑, ๓๔๓ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓, ๔, ๕, ๙, ๑๒, ๑๕ ให้จำเลยทั้งสองคืนต้นเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงไปให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๒ จำนวน ๑๐๘,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๓ จำนวน ๒๓๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๔ จำนวน ๕,๑๑๐,๐๐๐ บาท และผู้เสียหายที่ ๕ จำนวน ๖๖๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางยุวาภรณ์ ผู้เสียหายที่ ๔ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฉ้อโกงประชาชน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก, ๘๓ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ (ที่ถูก มาตรา ๔ (เดิม)), ๕, ๑๒ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ (ที่ถูก มาตรา ๔ เดิม)), ๕, ๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองซึ่งร่วมกับพวกกระทำต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายรวม
๕ ราย เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม ๕ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ลงโทษจำคุกกระทงละ ๕ ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินแก่นางนีรนุช ๒๘๐,๐๐๐ บาท นายสารฑูร ๑๐๘,๐๐๐ บาท นายศราวุธ ๒๐๓,๐๐๐ บาท นางยุวาภรณ์ ๕,๑๑๐,๐๐๐ บาท และนายอนันตชัย ๖๖๓,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่นายศราวุธ ๒๓๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๓ จำเลยทั้งสองกับพวกรวมมีจำนวนมากกว่า ๕ คนขึ้นไป ร่วมกันโฆษณา ชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ คือ นางนีรนุช นายสารฑูร นายศราวุธ นายอนันตชัย ตามลำดับ และประชาชนทั่วไป จำนวนมากกว่า ๑๐ คน ให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัทแปซิฟิค สปีด จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โจนส์ (๒๐๐๐) จำกัด ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไพร์มฮิลล์ กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองฮ่องกง โดยรับรองว่าการลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ ๑ ต่อวัน มากกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย จะมีแต่ผลกำไร ไม่มีการขาดทุน จนโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวง ได้นำเงินเปิดบัญชีเข้าร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับบริษัททั้งสองดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแทนทั้งหมด ต่อมาจำเลยทั้งสองกับพวกแจ้งว่าการซื้อขายดังกล่าวขาดทุน โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่จะต้องนำเงินมาลงทุนเพิ่มอีก มิฉะนั้นจะไม่สามารถเคลื่อนไหวบัญชีการเงินของโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่ได้ และจะไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไปแล้วคืนมา โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่ต้องโอนเงินลงทุนเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายครั้ง แต่ก็ประสบภาวะขาดทุนทั้งหมด และไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไปแล้วคืน ตามความเป็นจริงแล้วบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปได้ ส่วนบริษัทไพร์มฮิลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็ปิดกิจการไปแล้ว การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปและทำให้โจทก์ร่วมเสียหายเป็นเงิน ๕,๑๑๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๑ เสียหายเป็นเงิน ๒๘๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๒ เสียหายเป็นเงิน ๑๐๘,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายที่ ๓ เสียหายเป็นเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาท และผู้เสียหายที่ ๕ เสียหายเป็นเงิน ๖๖๓,๐๐๐ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ประการแรกว่า การรับเงินในฐานะตัวแทน และการที่จำเลยทั้งสองมิได้เป็นตัวแทนบริษัทแปซิฟิค สปีด จำกัด กับบริษัทแปซิฟิค โจนส์ (๒๐๐๐) จำกัด อยู่ในความหมายของการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ประกาศชักชวนโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัทแปซิฟิค สปีด จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โจนส์ (๒๐๐๐) จำกัด โดยรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ ๑ ต่อวัน มากกว่าดอกเบี้ยจาก
ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย จะมีแต่ผลกำไร ไม่มีการขาดทุน จนโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงได้นำเงินมาเปิดบัญชีเข้าร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับบริษัททั้งสองดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นผู้ดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแทนผู้ร่วมลงทุนทั้งหมด ต่อมาจำเลยทั้งสองกับพวกแจ้งโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่ว่าการซื้อขายดังกล่าวขาดทุน โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่จะต้องนำเงินมาลงทุนเพิ่มเติมอีก มิฉะนั้นจะไม่สามารถเคลื่อนไหวทางบัญชีการเงินของโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่ได้ ซึ่งจะเป็นผลให้ไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไปแล้วคืน โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่จึงต้องโอนเงินลงทุนเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายครั้ง แต่ก็ประสบภาวะขาดทุนทั้งหมด และไม่ได้รับเงินที่ลงทุนไปแล้วคืน ตามความเป็นจริงแล้วบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด ส่วนบริษัทไพร์มฮิลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็ปิดกิจการไปแล้ว โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไป การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองกับพวกทำให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ แล้ว แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัททั้งสองดังกล่าว แต่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ บัญญัติว่า ” ในพระราชกำหนดนี้ “ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย ” ถึงแม้ว่าพระราชกำหนดจะได้บัญญัติไว้ดังกล่าว แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมดำเนินกิจการกับบริษัททั้งสอง และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับบริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ และเป็นผู้กู้ยืมเงินในความหมายของการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า การโฆษณา หรือประกาศ หรือการกระทำใด ๆ ให้ประชาชนนำเงินเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะดังกล่าวตามฟ้องโจทก์ เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งมีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัทแปซิฟิค สปีด จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โจนส์ (๒๐๐๐) จำกัด โดยจำเลยทั้งสองกับพวกอ้างว่าเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไพร์มฮิลล์ กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่ที่เมืองฮ่องกง จำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ ๑ ต่อวัน มากกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย และจะมีแต่ผลกำไร ไม่มีการขาดทุน จนโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวง ได้นำเงินเปิดบัญชีเข้าร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับบริษัททั้งสองดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงของจำเลยทั้งสองกับพวก ได้นำเงินเปิดบัญชีเข้าร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับบริษัททั้งสองดังกล่าว การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไป จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก, ๘๓ และการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันโฆษณาชักชวน แนะนำ แจกจ่ายเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนกับบริษัทแปซิฟิค สปีด จำกัด และบริษัทแปซิฟิค โจนส์ (๒๐๐๐) จำกัด โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรับรองว่าการลงทุนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงในอัตราร้อยละ ๑ ต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่ว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และไม่ได้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายทั้งสี่และประชาชนทั่วไปในอัตราดังกล่าวได้จนจำเลยทั้งสองกับพวกได้เงินไป จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๔ (เดิม) แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดด้วย แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่บทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่นำมาปรับใช้แก่คดี และไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่ากฎหมายใหม่มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔ (เดิม) แล้ว จึงไม่ต้องปรับเป็นความผิดตามมาตรา ๕ อีก เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นความผิดตามมาตรา ๕ รวมอยู่ในความผิดตามมาตรา ๔ (เดิม) ซึ่งเป็นบทหลักแล้ว กรณีเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ โดยเห็นควรปรับบทให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดของจำเลยทั้งสองตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share