คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7300/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง มิใช่ฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีตามจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 200 บาท จึงถูกต้องตามตาราง 1 ข้อ (2)(ข)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 พิมพ์ข้อความในหนังสือขอเลิกจ้างการเป็นครูใส่ความโจทก์และปิดประกาศโฆษณาทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์ประพฤติชั่ว ไม่เหมาะสมที่จะเป็นครูเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ทำละเมิด และฟ้องแย้งว่าโจทก์นำเอาข้อความในเอกสารดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองหลายคดีทั้งคดีอาญา คดีแรงงานและคดีนี้ เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเพื่อให้จำเลยทั้งสองต้องเสียชื่อเสียง ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุในการฟ้องแตกต่างกับคำฟ้องเดิมฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้ลงพิมพ์ข้อความในหนังสือขอเลิกจ้างการเป็นครูใส่ความโจทก์และเปิดเผยข้อความในหนังสือดังกล่าวต่อผู้มีชื่อและเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้ลงพิมพ์ข้อความประกาศเรื่องการพ้นจากหน้าที่ครูใส่ความโจทก์ แล้วนำเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวไปปิดประกาศโดยเปิดเผยไว้ทั่วโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีเพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลยทั้งสอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง รวมทั้งคำให้การโจทก์แก้ฟ้องแย้ง แล้วทำการชี้สองสถาน กำหนดประเด็นข้อพิพาทและนัดสืบพยานโจทก์ก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ดังนั้น คำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง คำสั่งรับคำให้การโจทก์แก้ฟ้องแย้ง รวมทั้งการชี้สองสถานเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเสียทั้งหมด แล้วชี้สองสถานใหม่

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาล (ตามฟ้องแย้ง) จำนวน125,100 บาท แก่จำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับข้อที่โจทก์ต่อสู้มาในคำแก้ฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองทำให้คดีของจำเลยทั้งสองเสร็จสิ้นไป เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาต่อศาลฎีกา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องแย้ง แต่จำเลยทั้งสองมิได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องแย้งฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นการฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ประกอบด้วยมาตรา 247 เท่านั้น มิใช่ฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีตามจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 200 บาท จึงถูกต้องตามตาราง 1 ข้อ (2)(ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วข้อต่อสู้ของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นใจความสำคัญว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 พิมพ์ข้อความในหนังสือขอเลิกจ้างการเป็นครูใส่ความโจทก์ และปิดประกาศโฆษณาทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ประพฤติชั่ว ไม่เหมาะสมที่จะเป็นครูเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า ข้อความตามเอกสารที่จำเลยที่ 1จัดทำขึ้นเป็นความจริง ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องแย้งว่าโจทก์นำเอาข้อความในเอกสารดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองหลายคดี ทั้งคดีอาญา คดีแรงงานและคดีนี้ เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตเพื่อให้จำเลยทั้งสองต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย เห็นได้ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุในการฟ้องแตกต่างกับคำฟ้องเดิม ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่อาจรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ซึ่งเทียบได้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 683/2540 ระหว่าง นายธนากร แซ่เล้าหรือไพศาลโรจน์ โจทก์ บริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด กับพวก จำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาอันมีผลเท่ากับไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share