คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7298/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่พ.กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยพูดแก่โจทก์ว่าทำอย่างนี้ออกไปดีกว่ายังไม่เป็นการไล่โจทก์ออกจากงานอาจพูดด้วยความไม่พอใจที่ถูกลูกค้าติและโจทก์ได้พูดโต้ตอบพ.ทำให้พ. เกิดโทสะจริตจึงได้พูดกับโจทก์ดังกล่าวไม่มีกิจจะลักษณะว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา582

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่กุ๊ก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 30 วัน คิดเป็นเงิน 7,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 47 วันคิดเป็นเงิน 10,500 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 1ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2538 จำนวนเงิน 3,266 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทะเลาะกับภริยาในสถานที่ทำงานจำเลยได้ตำหนิและว่ากล่าวตักเตือน แต่โจทก์ไม่พอใจวันรุ่งขึ้นโจทก์จึงไม่มาทำงานเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายพีระพันธ์ โกศลวรรณเป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้โต้เถียงกับโจทก์แล้วพูดกับโจทก์ว่าถ้าลื้อทำอย่างนี้ออกไปดีกว่า แม้นายพีระพันธ์จะมิได้พูดเลิกจ้างโจทก์โดยตรง แต่นายพีระพันธ์ก็พูดไล่โจทก์ออกจากงาน การที่โจทก์ไม่มาทำงานอีกต่อไปไม่ถือว่าโจทก์ขาดงาน เมื่อนายพีระพันธ์พูดไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยตามอายุงานสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 7,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,500 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 3,266 บาทแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายว่า การที่นายพีระพันธ์กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่าทำอย่างนี้ออกไปดีกว่า เป็นเพียงการว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ในฐานะลูกจ้างเพราะไม่พอใจผลงานของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ปรับปรุงการทำงาน หาได้มีลักษณะเป็นการเลิกจ้างนั้น พิเคร าะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยโดยนายพีระพันธ์ โกศลวรรษ กรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยพูดแก่โจทก์ว่าทำอย่างหนี้ออกไปดีกว่าคำพูดของนายพีระพันธ์ดังกล่าวยังไม่เป็นการไล่โจทก์ออกจากงานอาจพูดด้วยความไม่พอใจที่ถูกลูกค้าติว่าโจทก์ทำอาหารเค็มจัดหวานจัดและโจทก์ได้พูดโต้ตอบนายพีระพันธ์ทำให้นายพีระพันธ์เกิดโทสะจริตจึงได้พูดกับโจทก์ดังกล่าว ไม่มีกิจจะลักษณะว่าจำเลยโดยนายพีระพันธ์จะเลิกจ้างโจทก์ การที่โจทก์ออกจากงานไยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเลยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share