คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7293/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ส่วนผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินคงมีสิทธิขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไว้ก่อนศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น เพื่อจะได้ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ตน เพราะเท่ากับเป็นการคืนทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินให้ไปเป็นประโยชน์ในการชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มุ่งสกัดมิให้ทรัพย์สินซึ่งมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกนำไปใช้อย่างทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด คงมีเพียงสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอ 2 ฉบับ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ฉบับแรกจำนวน 37 รายการ และฉบับที่สองจำนวน 1 รายการ ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ทรัพย์สินจำนวน 37 รายการ ตามคำร้องขอฉบับแรกเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งได้มาจากการประกอบอาชีพค้าขายโดยสุจริตและไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 ให้ทรัพย์สินรวม 38 รายการดังกล่าว พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
วันที่ 12 ธันวาคม 2555 นายจิรศักดิ์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรให้เรียกว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1930/2551 ของศาลจังหวัดกระบี่ ผู้คัดค้านที่ 3 นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 765 ของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นทรัพย์สินลำดับที่ 37 ตามคำร้องขอของผู้ร้องฉบับแรกเพื่อขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแล้ว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกระบี่ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และระงับการจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินและไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาได้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ที่ดินตกเป็นของแผ่นดินเพราะแม้ผู้คัดค้านที่ 3 เคยให้การเป็นพยานในคดีนี้ แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เข้าใจว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้คัดค้านแล้วว่าที่ดินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสามารถเรียกให้หลุดพ้นจากการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ผู้คัดค้านที่ 3 จึงขอให้มีคำสั่งคืนที่ดินเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 3 ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดกระบี่
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีคำสั่งที่ ย.96/2550 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ให้ยึดและ/หรืออายัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 765 ของผู้คัดค้านที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งได้มาจากการประกอบอาชีพค้าขายโดยสุจริตและไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ศาลจังหวัดกระบี่มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1930/2551 โดยผู้คัดค้านที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 1,330,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวด หากผิดนัดยินยอมให้ผู้คัดค้านที่ 3 บังคับคดีได้ทันที วันที่ 8 ธันวาคม 2554 ผู้คัดค้านที่ 3 นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1930/2551 ของศาลจังหวัดกระบี่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้คัดค้านที่ 3 มาเบิกความเป็นพยานให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 ให้ทรัพย์สินทั้ง 38 รายการ รวมทั้งที่ดินดังกล่าวพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คดีถึงที่สุด วันที่ 26 มิถุนายน 2555 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 กระทรวงการคลังยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกระบี่ขอให้เพิกถอนการยึดและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงยื่นคำร้องคัดค้านเป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 50 วรรคสอง ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน และจะขอคุ้มครองสิทธิของตนโดยให้คืนทรัพย์สินเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 3 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติคุ้มครองผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินไว้ตามมาตรา 50 ใน 2 กรณี ได้แก่ ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน โดยกรณีของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ได้แก่ เจ้าของและผู้รับโอนนั้น อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 โดยหากคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินฟังไม่ขึ้น ศาลต้องมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากศาลเห็นว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลต้องสั่งคืนทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 51/1 ส่วนกรณีของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคสอง อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยหากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แต่คำร้องขอคุ้มครองสิทธิของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินฟังขึ้น ศาลก็จะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์โดยจะกำหนดเงื่อนไขด้วยก็ได้ตามมาตรา 52 นอกจากนี้ กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แล้ว แต่ปรากฏในภายหลังตามคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นว่าเป็นกรณีที่จะคุ้มครองผู้ซึ่งเกี่ยวข้องดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 ตามมาตรา 53 ก็บัญญัติคุ้มครองผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินไว้ใน 2 กรณีเช่นกัน โดยกรณีของเจ้าของหรือผู้รับโอน ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น แต่หากไม่สามารถคืนทรัพย์สินได้ก็ให้ใช้ราคา ส่วนในกรณีของผู้รับประโยชน์ทรัพย์สิน ให้ศาลกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ แต่หากไม่สามารถคุ้มครองสิทธิได้ก็ให้ใช้ค่าเสียหายแทน ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าเฉพาะผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตตามเงื่อนไขอื่น ๆ ในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) เท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ส่วนผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินซึ่งแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์หรือได้มาซึ่งประโยชน์โดยสุจริตตามเงื่อนไขอื่น ๆ ในมาตรา 50 วรรคสอง หาได้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน คงมีสิทธิขอให้คุ้มครองสิทธิของตนเท่านั้น และแม้ว่าตามมาตรา 50 วรรคสอง ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินจะสามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง แต่การคุ้มครองสิทธิย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 52 กล่าวคือ ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 เท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 53 ที่ให้สิทธิผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 เช่นกัน ดังนั้น ในกรณีของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์หรือกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 52 หรือมาตรา 53 ก็เฉพาะในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น คดีนี้ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินจึงมีสิทธิขอให้คุ้มครองสิทธิหรือกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิ แต่ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินอย่างผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง หรืออย่างเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 53 การที่ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีเรื่องกู้ยืมเงิน และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับชำระหนี้ไว้ก่อนศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นนำเงินมาชำระหนี้แก่ตนได้ เพราะเท่ากับเป็นการคืนทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 นำไปเป็นประโยชน์ในการชำระหนี้ของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ตามกฎหมาย ซึ่งย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มุ่งสกัดมิให้ทรัพย์สินซึ่งมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกนำไปใช้อย่างทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องตามมาตรา 53 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 และศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แล้ว ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 50 วรรคสอง ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของตนโดยให้คืนทรัพย์สินเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 3 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
อนึ่ง แม้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่คดีนี้เป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบ เพราะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้ไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง นอกจากนี้ในชั้นฎีกาผู้คัดค้านที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่ตามคำร้องผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด คงมีเพียงสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมานั้นแก่ผู้คัดค้านที่ 3
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share