คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มาตรฐานของความปลอดภัยในการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปโดยเก็บค่าบริการจากผู้มาใช้บริการก็ต้องยึดถือตามมาตรฐานนั้นด้วย ยิ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้มาใช้บริการจมน้ำในสระว่ายน้ำของจำเลยมาแล้ว จำเลยยิ่งควรต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่จำเลยมิได้ปรับปรุงแก้ไข ถือว่าละเว้นปฏิบัติในสิ่งซึ่งตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสระว่ายน้ำควรต้องปฏิบัติ แม้จำเลยจะปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ ผู้ปกครองของผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้วยตนเองก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิด เมื่อจำเลยไม่ระมัดระวังทำให้ไม่มีผู้เข้าช่วยเหลือเด็กชาย ภ. ซึ่งจมน้ำได้ทันท่วงทีและถูกต้อง ทั้งไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จะปฐมพยาบาล ทำให้สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจนสมองพิการจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย
หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กชาย ภ. มีอาการทางสมองพิการ แขนขาชักเกร็งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องให้ยาลดอาการทางสมองและหากมีอาการเกร็งก็ต้องทำกายภาพบำบัดทุกวันเด็กชาย ภ. จะต้องอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่นนั้นตลอดไปค่าดูแลรักษาที่จะต้องใช้จ่ายต่อไปจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปเนื่องจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคตเป็นคนละส่วนกับค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้จ่ายไปก่อนแล้วและไม่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกัน ทั้งเมื่อเด็กชาย ภ. อยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ย่อมเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลย หาใช่ไกลเกินเหตุไม่ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในการสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ จิตเจือจุน จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำดำรงศิลป์ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาด อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 2กรกฎาคม 2537 เด็กชายภนาวัฒน์ได้ไปใช้บริการที่สระว่ายน้ำของจำเลยและจมน้ำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่จัดเครื่องอุปกรณ์และพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ประจำสระเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ทำให้สมองพิการไม่สามารถทำการงานและช่วยเหลือตนเองได้ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้อื่น โจทก์ได้ทำการรักษาพยาบาลตลอดมาแต่อาการยังไม่ดีขึ้น สิ้นค่ารักษาพยาบาลไป 233,258 บาท เด็กชายภนาวัฒน์ต้องสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิง โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 2,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,233,258 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลจำนวน 233,258 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลเดือนละ 50,000 บาท แก่โจทก์ จนกว่าเด็กชายภนาวัฒน์จะหายเป็นปกติหรือถึงแก่กรรม กับให้จำเลยชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการสระว่ายน้ำดำรงศิลป์เพื่อสอนเด็กนักเรียนว่ายน้ำ เปิดสอนเวลา 8 นาฬิกา ถึง 16.30นาฬิกา มีครูฝึกสอนตามระเบียบ หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาใช้บริการจนถึง 18 นาฬิกา โดยผู้ปกครองต้องมาดูแลเอง และผู้ที่จะลงสระน้ำต้องว่ายน้ำเป็น ในวันเกิดเหตุโจทก์พาเด็กชายภนาวัฒน์มาลงสระว่ายน้ำหลัง 18 นาฬิกา เป็นช่วงสระปิดและครูฝึกสอนกลับแล้วระหว่างนั้นโจทก์ไม่ได้ดูแลเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์กลับไปนอนอ่านหนังสือพิมพ์และดื่มเครื่องดื่มทั้งที่ทราบว่าเด็กชายภนาวัฒน์ป่วยอยู่ เด็กชายภนาวัฒน์เป็นตะคริวและจมน้ำ คนทำความสะอาดของจำเลยพบเห็นได้ช่วยเหลือขึ้นมาและนำส่งโรงพยาบาล โจทก์ทราบดีว่าไม่มีครูฝึกสอนอยู่ หากโจทก์คอยเฝ้าดูแลแม้เด็กชายภนาวัฒน์จะจมน้ำก็เป็นเวลาเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายแต่โจทก์หาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่ ความเสียหายจึงเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม กล่าวคือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิง โจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นค่าอะไรบ้าง จึงไม่สามารถให้การแก้คดีได้ถูกต้องทั้งค่ารักษาพยาบาลไม่น่าจะเกิน 2,000 บาท ส่วนค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานโดยสิ้นเชิงนั้น ขณะเกิดเหตุเด็กชายภนาวัฒน์กำลังเรียนหนังสือยังไม่ได้ประกอบอาชีพ หากจะเสียหายก็ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 450,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 112,500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน900,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำดำรงศิลป์ โดยเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป วันธรรมดาเปิดบริการตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกา วันหยุดราชการเปิดบริการตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา ค่าบริการเด็กคนละ 15 บาทผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2537 โจทก์พาเด็กชายภนาวัฒน์ซึ่งว่ายน้ำเป็นแล้วไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของจำเลย ระหว่างอยู่ในสระเด็กชายภนาวัฒน์ได้จมน้ำ เป็นเหตุให้สมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง มีอาการพิการทางสมอง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขณะเกิดเหตุที่สระว่ายน้ำของจำเลยไม่มีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยของผู้ที่มาลงสระ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องเรื่องค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 2 ตอนท้ายว่า “โจทก์ได้ทำการรักษาพยาบาลเด็กชายภนาวัฒน์มาโดยตลอด แต่อาการของเด็กชายภนาวัฒน์ยังคงไม่ดีขึ้น” และบรรยายในคำขอท้ายฟ้องข้อ 2ว่า “ให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลในอัตราเดือนละ 50,000 บาท” ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้วสามารถเข้าใจว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาท ทำให้เด็กชายภนาวัฒน์มีอาการพิการทางสมองจนบัดนี้อาการยังไม่ดีขึ้น ขอให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเดือนละ 50,000 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า คำฟ้องเรื่องค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานเคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ย่อหน้าที่ 2 ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ไม่จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ประจำสระ ทำให้เด็กชายภนาวัฒน์จมน้ำขาดอากาศหายใจเป็นเวลานานเป็นเหตุให้สมองพิการ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้2,000,000 บาท เป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นฟังไม่ขึ้นทั้งสองประการ

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ จิตเจือจุน ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์และนางพเยาว์เป็นสามีภรรยากันตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 และเด็กชายภนาวัฒน์เป็นบุตรของโจทก์และนางพเยาว์ จึงเป็นการนำสืบเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายภนาวัฒน์ อันเป็นการนำสืบในประเด็นที่โจทก์อ้าง หาใช่นำสืบนอกประเด็นดังจำเลยฎีกาไม่ และเมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบหักล้าง คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชายภนาวัฒน์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สี่ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ได้รับอันตรายแก่กายหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ขณะเกิดเหตุที่สระว่ายน้ำของจำเลยไม่มีอุปกรณ์ชุดปฐมพยาบาลและไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการโจทก์มีนายณรงค์ ขาวนวล เจ้าหน้าที่ควบคุมสระว่ายน้ำของการกีฬาแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดจันทบุรี มาเบิกความว่าตามประเพณีปฏิบัติของการให้บริการสระว่ายน้ำและระเบียบของการกีฬาแห่งประเทศไทยสระว่ายน้ำต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำสระว่ายน้ำเพื่อดูแลความปลอดภัยและต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต นอกจากนี้ข้อบังคับกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.18 ก็กำหนดว่าการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและชุดปฐมพยาบาลด้วยแสดงว่ามาตรฐานของความปลอดภัยในการจัดตั้งสระว่ายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต จำเลยเป็นเจ้าของสระว่ายน้ำเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป โดยเก็บค่าบริการจากผู้มาใช้บริการ จำเลยจะต้องยึดถือตามมาตรฐานนั้นด้วย แม้ว่าเทศบาลเมืองจันทบุรีหรือจังหวัดจันทบุรีจะไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับก็ตาม ยิ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้มาใช้บริการจมน้ำในสระว่ายน้ำของจำเลยมาแล้ว จำเลยยิ่งควรต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่จำเลยก็มิได้ปรับปรุงแก้ไข ถือว่าจำเลยละเว้นปฏิบัติในสิ่งซึ่งตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสระว่ายน้ำควรต้องปฏิบัติ และตามพฤติการณ์ที่ผ่านมาก็มีผู้ได้รับอันตรายจากการมาใช้บริการสระว่ายน้ำของจำเลย จำเลยควรจะต้องใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้นจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยละเว้นเสีย ทำให้ไม่มีผู้เข้าช่วยเหลือเด็กชายภนาวัฒน์ได้ทันท่วงทีและถูกต้อง ทั้งไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จะปฐมพยาบาล ทำให้สมองของเด็กชายภนาวัฒน์ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจนสมองพิการ อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยเป็นเหตุให้เด็กชายภนาวัฒน์ได้รับอันตรายแก่กาย แม้จำเลยจะได้ปิดประกาศไว้ที่สระว่ายน้ำว่าผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำ ผู้ปกครองของผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้วยตนเอง ประกาศดังกล่าวก็ไม่ทำให้เป็นข้อแก้ตัวที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใด สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7ว่าค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้นเป็นเงิน 233,258 บาท แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1กำหนดให้ 150,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในส่วนนี้ แสดงว่าโจทก์พอใจแล้ว ส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตนายแพทย์นันทวัฒน์ พัฒนพิรุฬหกิจ ผู้รักษาเด็กชายภนาวัฒน์เบิกความว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว เด็กชายภนาวัฒน์มีอาการทางสมองพิการแขนขาชักเกร็งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องให้ยาลดอาการทางสมองและหากมีอาการเกร็งก็ต้องทำกายภาพบำบัดทุกวัน อาการของเด็กชายภนาวัฒน์ไม่มีทางหายเป็นปกติ จึงเชื่อว่าเด็กชายภนาวัฒน์จะต้องอยู่ในสภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกนานตามสภาพเช่นนี้ค่าดูแลรักษาเด็กชายภนาวัฒน์ที่จะต้องใช้จ่ายต่อไป จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปเนื่องจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคต ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่ารักษาพยาบาลของเด็กชายภนาวัฒน์ที่โจทก์ได้จ่ายไปก่อนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตให้โจทก์ 450,000 บาท ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกำหนดค่ารักษาพยาบาลและค่ารักษาพยาบาลในอนาคตให้โจทก์นั้น หาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยฎีกาไม่ และการกำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคตดังกล่าวก็เป็นจำนวนพอสมควรแล้วสำหรับค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบการงานนั้น เห็นว่า เด็กชายภนาวัฒน์อยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ย่อมเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยหาใช่ไกลเกินเหตุดังที่จำเลยฎีกาไม่ โจทก์จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ 300,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นจำนวนพอสมควรแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share