แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ธ. เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยให้มีอำนาจยื่นฟ้องเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ธ. จึงย่อมมีอำนาจตั้งทนายความยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง
เมื่อโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานและมี ธ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความประกอบพยานเอกสารนั้น แม้ไม่มีพยานที่รู้เห็นการทำเอกสารดังกล่าวมาเบิกความ แต่เอกสารดังกล่าวก็เข้าสู่สำนวนโดยชอบ พยานเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างปรเทศและมีการผลิตสินค้าตามเครื่องหมายการค้าคำว่า NIKKO HORN กับรูปรอยประดิษฐ์ตามฟ้องออกจำหน่าย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีตัวอักษรโรมันทั้งหมด 2 คำ โดยคำหลังคือ HORN มีตัวอักษรเหมือนกันทั้งสี่ตัว ส่วนคำหน้าคงแตกต่างกันแต่เพียงว่าคำว่า NIKKO ของโจทก์มีอักษร K อยู่ 2 ตัว ส่วนคำว่าNIKO ของจำเลยมีอักษร K เพียง 1 ตัว อักษรโรมันดังกล่าวของโจทก์และของจำเลยก็อ่านออกเสียงคล้ายคลึงกัน โดยของโจทก์อ่านออกเสียงว่า นิกโกฮอน ส่วนของจำเลยอ่านออกเสียงว่า นิโก้ ฮอน รูปรอยประดิษฐ์ของเครื่อง-หมายการค้าของโจทก์และจำเลยนั้นต่างเป็นสีขาวอยู่กลางพื้นสีดำ โดยมีอักษรโรมันว่า NIKKO และ NIKO ตามลำดับ กำกับอยู่ด้านล่างของรูปประดิษฐ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นเป็นรอยหยักขนาดใกล้เคียงกัน คงต่างกันแต่เฉพาะทิศทางของลายเส้นเท่านั้น เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า NIKO HORN และรูปรอยประดิษฐ์สายฟ้าแลบของจำเลยจึงแทบจะไม่มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า NIKKO HORN และรูป N ประดิษฐ์ของโจทก์ สำหรับเครื่องหมายการค้าของจำเลยอีกเครื่องหมายหนึ่งแม้จะมีตัวอักษรโรมันคำว่า Mighty-mate VFD-150อยู่ด้วยก็ตาม แต่จุดเด่นของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็อยู่ที่คำว่า NIKOและรูปรอยประดิษฐ์ซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า NIKKO HORN และรูปรอยประดิษฐ์ดังกล่าวมาก่อนจำเลย แม้จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อน โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า NIKKO HORN และรูปรอยประดิษฐ์นั้นและในเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย
แม้รูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยกับตัวอักษรโรมันบนกล่องบรรจุสินค้าแตรของจำเลยและตัวอักษรโรมันบนกล่องบรรจุสินค้าแตรของโจทก์แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยตัวอักษรโรมันบนกล่องบรรจุสินค้าแตรของจำเลยมีคำว่า NIKO Mighty-mate VFD-150ส่วนตัวอักษรโรมันบนกล่องบรรจุสินค้าแตรของโจทก์เป็นตัวอักษรโรมันคำว่าNIKO Power-mate SFD-100 แต่ความแตกต่างดังกล่าวก็มีเพียงเล็กน้อยซึ่งสำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกัน ก็ยากที่จะกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้างและแม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากได้พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างเวลากันก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว การที่เครื่องหมายการค้าที่กล่องบรรจุสินค้าแตรของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่กล่องบรรจุสินค้าแตรของโจทก์ โดยสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าของโจทก์เช่นนี้นับได้ว่า เป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ และเป็นการที่จำเลยได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าคำว่า NIKD HORN และรูปรอยประดิษฐ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยอันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย เป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าโดยเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า NIKO HORN และรูปรอยประดิษฐ์เป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์ร่วมในการผลิตและจำหน่าย ทำให้สาธารณชนเสื่อมความนิยมในเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์ มีผลทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ50,000 บาท ดังนี้ โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ทำการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์แต่อย่างใดไม่ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ ก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ได้
เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้รับจดทะเบียนนั้น ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิ และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยได้เอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานลวงขายตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกันได้ และไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งนี้เพราะสิทธินั้นเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่อง-หมายการค้าดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 เท่านั้น