แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมการขายอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 972,303.26 บาท ซึ่งได้รับคืนจากกรมสรรพากรเพื่อไปชำระให้แก่กองทุนโจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่ 4 และที่ 5 ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการขายอ้อยและน้ำตาลทราย อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 5 (12) ของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 คณะกรรมการบริหารจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยชำระเบี้ยปรับได้ โดยให้พิจารณาเบี้ยปรับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ซึ่งเบี้ยปรับตามระเบียบดังกล่าวข้อ 3 หมายความว่าเป็นเงินค่าปรับที่คณะกรรมการบริหารกำหนดให้โรงงานซึ่งปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบนี้ชำระให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ดังนี้เบี้ยปรับจึงไม่ใช่ค่าปรับอันเป็นโทษทางอาญา เพราะเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับโรงงานที่ฝ่าฝืนจะนำไปเปรียบกับค่าปรับทางอาญาไม่ได้ นอกจากนี้ เบี้ยปรับกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพราะเป็นการกระทำโดยคณะกรรมการบริหารอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับทางปกครอง มิใช่เบี้ยปรับเพราะเหตุผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร ดังบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึง 385 และเบี้ยปรับที่คณะกรรมการของโจทก์กำหนดให้จำเลยนำไปชำระถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะเสียหายจริงหรือไม่ โจทก์ย่อมเรียกเบี้ยปรับได้
ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาและคิดเบี้ยปรับเอาจากโรงงานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือ พระราชบัญญัติดังกล่าว คำว่า “พิจารณา” และคำว่า “คิด” มีความหมายให้ใคร่ครวญหรือไตร่ตรองหรือตรวจตราก่อน ดังนั้น จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารที่จะสั่งปรับหรือไม่ปรับก็ได้ ทั้งนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของโรงงานที่ทำการฝ่าฝืนระเบียบเป็นเรื่องๆไป
ดอกเบี้ยตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายไม่กำหนดไว้ว่ามีอัตราสูงสุดเท่าใดใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีเฉพาะกรณีกู้ยืมเงินตามมาตรา 654 เท่านั้นที่ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี กรณีอื่นๆนอกนั้นไม่มีกำหนดอัตราสูงสุดไว้เลย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมายจึงเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 96,285,493.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 78,900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า… ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ใช้ชื่อเรียกระเบียบไม่ตรงถ้อยคำตามมาตรา 17 (25) โดยตัดคำว่า “นำจับ” อันเป็นสาระสำคัญของระเบียบออกไป ทั้งยังนำเอาการกระทำอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 มาตรา 44 ซึ่งกำหนดโทษปรับทางอาญาไว้แล้วมากำหนดเป็นเบี้ยปรับอีก เป็นการลงโทษซ้ำซ้อนหลายครั้งและเป็นระเบียบที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 17 จึงเป็นระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับ สำหรับเงินยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้ออกตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 พ.ศ.2530 และฉบับที่ 5 พ.ศ.2531 มิใช่เงินตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตายทราย พ.ศ.2527 ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้เป็นรายได้ของโจทก์ จึงไม่อาจนำระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฯ มาใช้บังคับได้ ภาษีการค้าที่ได้รับการยกเว้นมีวัตถุประสงค์ในการใช้โดยเฉพาะถือเป็นเงินของโจทก์ มิใช่ของโรงงาน โรงงานจึงเป็นเพียงคนกลางหรือตัวแทนโจทก์ในการรับเงินภาษีคืน จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องไปขอรับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากร และกรมสรรพากรไม่ควรนำภาษีที่ได้รับการยกเว้นมาหักหนี้หรือผูกพันหนี้สินของโรงงานกับกรมสรรพากร แต่ควรนำส่งโจทก์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้และสภาพแห่งหนี้ไม่อาจหักกลบลบหนี้กันได้ การหักกลบลบหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินภาษีคืนแล้ว จำเลยจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด อนึ่ง ต่อมาจำเลยได้ชำระค่าธรรมเนียมให้โจทก์เสร็จสิ้นแล้วโดยโจทก์มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับไว้ จึงเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ และหากโจทก์เสียหายก็ไม่เกิน 100 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 96,285,493.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 78,900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมการขายอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 972,303.26 บาท ซึ่งได้รับคืนจากกรมสรรพากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 183) พ.ศ.2530 เพื่อไปชำระให้แก่กองทุนโจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 4 และที่ 5 ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการขายอ้อยและน้ำตาลทราย อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 5 (12) ของระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 คณะกรรมการบริหารจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยชำระเบี้ยปรับได้ โดยให้พิจารณาเบี้ยปรับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ซึ่งเบี้ยปรับตามระเบียบดังกล่าวข้อ 3 ให้ความหมาย “เบี้ยปรับ” ว่าเป็นเงินค่าปรับที่คณะกรรมการบริหารกำหนดให้โรงงานซึ่งปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบนี้ชำระให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ดังนี้ เบี้ยปรับจึงไม่ใช่ค่าปรับอันเป็นโทษทางอาญา เพราะเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับโรงงานที่ฝ่าฝืนจะนำไปเปรียบเทียบกับค่าปรับทางอาญาไม่ได้ นอกจากนี้เบี้ยปรับกรณีเช่นนี้ก็ไม่ใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเป็นการกระทำโดยคณะกรรมการบริหารอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับทางปกครอง มิใช่เบี้ยปรับเพราะเหตุผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญาไว้ต่อกันว่าลูกหนี้จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถึงมาตรา 385 จึงต่างกับกรณีของจำเลย เบี้ยปรับที่คณะกรรมการของโจทก์กำหนดให้จำเลยนำไปชำระถือว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะเสียหายจริงหรือไม่ โจทก์ย่อมเรียกเบี้ยปรับได้ และที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการบริหารจะต้องมีคำสั่งปรับโรงงานที่ฝ่าฝืนระเบียบวันละ 100,000 บาท ด้วยทุกกรณีจะใช้ดุลพินิจในทางอื่นไม่ได้นั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาและคิดเบี้ยปรับเอาจากโรงงานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติดังกล่าว คำว่า “พิจารณา” และคำว่า “คิด” มีความหมายให้ใคร่ครวญหรือไตร่ตรองหรือตรวจตราก่อน ดังนั้น จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารที่จะสั่งปรับหรือสั่งไม่ปรับก็ได้ ทั้งนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของโรงงานที่ทำการฝ่าฝืนระเบียบเป็นเรื่อง ๆ ไ ป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับไม่ขัดต่อกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับจำนวน 200,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 7 (1) พร้อมดอกเบี้ยโดยไม่กำหนดให้จำเลยชำระค่าปรับรายวันอีกวันละ 100,000 บาท ตามข้อ 8 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2528 ข้อ 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าโรงงานไม่ชำระเบี้ยปรับภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระ จนกว่าจะได้ทำการชำระเสร็จสิ้น ดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 บัญญัติว่าหนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายไม่กำหนดไว้ว่ามีอัตราสูงสุดเท่าใด ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีเฉพาะกรณีกู้ยืมเงินตามมาตรา 654 เท่านั้น ที่ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี กรณีอื่น ๆ นอกนั้นไม่มีกำหนดอัตราสูงสุดไว้เลย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมายจึงเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.