คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 30,852,879.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,732,925 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์และหรือกิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช.ฟอร์เอเวอร์เพียวเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 20,450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (24 กุมภาพันธ์ 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางพชรพร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และโจทก์เป็นหุ้นส่วนในสัญญากิจการร่วมค้ากับ โจว หยวน อินเตอร์เนชั่น คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อทางธุรกิจว่า ฟอร์เอเวอร์เพียว คอร์ปอเรชั่น โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรใช้ชื่อผู้ประกอบการว่า “กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช ฟอร์เอเวอร์เพียว” ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคน พร้อมประทับตราสำคัญ มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2556 จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์เข้าประกวดราคาจ้างเหมาออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง จัดหาติดตั้งระบบผลิตกับส่งจ่ายน้ำประปาจากน้ำทะเลและระบบท่อส่งจ่ายน้ำประปารวมทั้งงานจ้างดำเนินการผลิตน้ำประปาและและบำรุงรักษา 2 ปี ที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ปรากฏว่ากิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว ชนะการประกวดราคาเป็นผู้ประมูลได้โดยจำเลยที่ 1 ตกลงในราคา 112,350,000 บาท และแจ้งให้ไปทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งให้นำหลักประกันมายื่นในวันทำสัญญาตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2556 ต่อมาจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวว่า ให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ในระหว่างทำงานนั้นจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว ให้ชะลองานและการทำสัญญาก่อสร้างโครงการออกไปตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2556 กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวทำงานงวดที่ 1 เสร็จพร้อมส่งมอบแบบรายละเอียดโรงผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 13 สิงหาคม 2556 กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า ขอทราบความคืบหน้าการดำเนินงานและการทำสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาเกาะเสม็ด ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งตอบกิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวว่าโครงการดังกล่าวยังคงชะลอการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นต้นไปเนื่องจากไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างระบบน้ำประปาได้ จึงยังไม่มีกำหนดลงนามในสัญญาและให้ไปขอคืนหลักประกันรวมถึงเอกสารการออกแบบระบบที่ยังไม่ได้ตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับงานได้ ดังนั้น วันที่ 20 สิงหาคม 2556 กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว จึงมีหนังสือทวงถามพร้อมเรียกค่าเสียหายและบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา เห็นว่า ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวและจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวจึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้นายภิเศก พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่าหลังจากกิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวเริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียวปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 อันเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ส่วนข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า เจ.วี.บี.เอช. ฟอร์เอเวอร์เพียว ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว สำหรับคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกานั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่คู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราวทำนองเดียวกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ ข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจฟังหักล้างเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยไว้โดยชอบแล้วได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,494,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share