แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่าต้องชำระแก่โจทก์โดยเริ่มนับจากวันทำสัญญานี้จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินครบถ้วนจากจำเลยที่ 1 ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่ได้ โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยได้โดยพลันนับแต่วันทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่งอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญาทรัสต์รีซีทเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169(เดิม) อายุความดอกเบี้ยค้างส่งเริ่มนับจากวันถัดจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ5 ปี การที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยสำหรับสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ บางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 (เดิม) โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปี จึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 692 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 295 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 ผู้จำนอง แม้หนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าให้รับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่ 3 เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังไป 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 189 (เดิม) และมาตรา 745
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ในการผ่อนชำระหนี้ จำเลยทั้งสามมิได้กำหนดชำระหนี้รายใดไว้โดยเฉพาะ โจทก์ชอบที่จะเอาชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อน แต่โจทก์เลือกการชำระหนี้เอาเองตามใจชอบจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย