คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ไม้กระดานซึ่ง เป็นไม้แปรรูปหวงห้ามประเภท ก. ที่จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันมีไว้ในครอบครองมีจำนวนมากถึง 95 แผ่นปริมาตร 2.28 ลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นไม้จำนวนมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีไว้เพื่อซ่อมแซม บ้าน การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือ ว่าเป็นการตัด ไม้ทำลายป่า ไม่ สมควรรอการลงโทษ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันมีไม้ตีนนกแปรรูป ไม้ประดู่แปรรูปและไม้มะค่าโมงแปรรูป ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 16 แผ่นปริมาตร 0.39 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 72 แผ่น ปริมาตร 1.84ลูกบาศก์เมตร และจำนวน 7 แผ่น ปริมาตร 0.05 ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับรวมเป็นไม้แปรรูป 95 แผ่น ปริมาตร 2.28 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74 (ที่แก้ไขแล้ว) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 47, 48, 73, 74 (ที่แก้ไขแล้ว)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 8,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยอย่างสูง และไม่รอการลงโทษให้จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งเจ็ด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าจำนวนไม้กระดานซึ่งเป็นไม้แปรรูปหวงห้ามประเภท ก. ที่จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันมีไว้ในครอบครองมีจำนวนมากถึง 95 แผ่น ปริมาตร 2.28 ลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นไม้จำนวนมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีไว้เพื่อซ่อมแซมบ้าน การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือว่าเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายทรัพยากรของชาติที่ช่วยรักษาต้นน้ำลำธาร ปัจจุบันนี้ป่าไม้ของชาติได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากจนน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับอนาคตของชาติและความอยู่รอดของอนุชนรุ่นหลัง เป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการจะพิทักษ์รักษาป่าไม้ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยมานั้น เป็นโทษสถานเบาเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share