แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญากล่าวหาว่าจำเลยเป็นพนักงานสอบสวน ได้ละเว้นการสอบสวนดำเนินคดีที่โจทก์กล่าวหา ร.กับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ คือเปรียบเทียบปรับ ร.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือ ร.ให้ได้รับโทษน้อยลง ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง ในระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ขอเพิ่มเติมฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีใหม่ ซึ่งข้อหาเป็นความผิดเรื่องเดียวกัน ดังนี้ แม้สิทธิการฟ้องคดีของโจทก์ยังมิได้ระงับไปก็ตาม หากโจทก์ได้ใช้สิทธินั้นฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมจะฟ้องเรื่องเดียวกันซ้อนเข้ามาอีกหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้
(อ้างฎีกาที่ 298-299/2510)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอธัญญบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๖ โจทก์ทั้งสามถูกนายรวม นางกิม และนายไซ้หรือเส่งเล้ง กับพวกอีก ๒ คน ทำร้ายร่ายกายจนโจทก์ทั้งสามได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย โจทก์ทั้งสามได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลย เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน จำเลยรับแจ้งความและบันทึกปากคำไว้แล้ว ต่อจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจวินิจฉัยบิดเบือนความผิดที่นายรวมกับพวกทำร้ายโจทก์นั้น เป็นความผิดลหุโทษ นอกจากนี้จำเลยยังได้บังอาจบันทึกไว้ในสมุดเปรียบเทียบปรับคดีสถานีตำรวจ โดยมิชอบว่าได้ทำการเปรียบเทียบปรับนายรวมคนเดียว ๕๐ บาท เพื่อปิดคดีโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย เป็นการกระทำในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อจะช่วยนายรวมกับพวกมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗,๒๐๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญากล่าวหาว่า จำเลยกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการมาก่อนแล้ว ตามคดีอาญาของศาลจังหวัดธัญญบุรี หมายเลขดำที่ ๑๙๓/๒๕๑๗ ในคดีนั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๖ เรื่อยมาจนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๗) จำเลยผู้เป็นพนักงานสอบสวน ได้ละเว้นการสอบสวนดำเนินคดีอาญาที่โจทก์กล่าวหานายรวมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเพื่อจะช่วยให้นายรวม นางกิม นายไช้หรือเล้ง กับพวกอีก ๒ คน มิให้ต้องรับโทษ ต่อมาวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๑๗ จำเลยได้ทำหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญญบุรีแจ้งเหตุขัดข้อง ไม่สามารถส่งสำนวนการสอบสวนคดีเรื่องนี้ได้ เพราะมิได้ทำสำนวนสอบสวนไว้ และได้ทำการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจทำได้ เป็นการแจ้งชัดว่าจำเลยทำผิดจริงดังที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗,๒๐๐ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง ในระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ขอเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๖ จำเลยได้วินิจฉัยบิดเบือนว่า คดีที่โจทก์กล่าวหานายรวมกับพวกเป็นความผิดลหุโทษ จำเลยยังได้ทำบันทึกว่าได้เปรียบเทียบปรับนายรวม ๕๐ บาท ความจริงไม่มีการเปรียบเทียบปรับ เพราะโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ทั้งจำเลยก็ทราบดีว่าตนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีได้มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว หากจะอนุญาตให้เพิ่มเติมฟ้อง จะไม่สะดวกแก่การพิจารณา และข้อหาที่โจทก์ขอเพิ่มเติมก็ต่างกรรมต่างวาระกันกับฟ้องเดิม โจทก์ย่อมดำเนินคดีได้ต่างหากอยู่แล้ว ไม่จำต้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ให้ยกคำร้อง โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
วินิจฉัยว่า แม้สิทธิการฟ้องคดีของโจทก์ยังมิได้ระงับไปก็ตาม หากโจทก์ได้ใช้สิทธินั้นฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมจะฟ้องคดีเรื่องเดียวกันซ้อนเข้ามาอีกหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง(๑) ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๘-๒๙๙/๒๕๑๐ ระหว่างผู้ว่าคดีศาลแขวงพระนครใต้ และบริษัทอเมริกันไซยันนามิด คัมปะนี โจทก์ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอัญอัญที่ ๑ นายไจ้เซ้ง แซ่โล้ว ที่ ๒ จำเลย และเห็นว่าข้อหาในคดีก่อนกับคดีนี้ก็คือจำเลยเปรียบเทียบปรับนายรวม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือนายรวมให้ได้รับโทษน้อยลง จึงเป็นความผิดเรื่องเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้ และศาลย่อมยกฟ้องไปได้เลยโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์จะมีมูลหรือไม่