คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4691/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขายทอดตลาดอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจำเลยที่ 1 เพื่อชำระบัญชีต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อกฎหมายดัวกล่าวในมาตรา 30 จัตวา บัญญัติว่าการเพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ จะกระทำไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอนรวมทั้งไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด กรณีจึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เลขที่ 183/79-80 หมู่ที่ 9 ถนนพัทยาสาย 2 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์สามารถซื้อคืนได้ แต่โจทก์ไม่ได้ซื้อคืนภายในเวลาที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกระงับการดำเนินกิจการแล้วมาอยู่ภายใต้การดูแลของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระบัญชีตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โจทก์เสนอราคาซื้อทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจง โดยยื่นซองประมูลราคาตามวันเวลาและสถานที่ที่จำเลยที่ 1 กำหนด และดำเนินการประมูลทรัพย์สินตามระเบียบและวิธีการขายตามหลักเกณฑ์ทุกประการ พร้อมกับวางเงินประกันการเสนอซื้อจำนวน 400,000 บาท แต่เมื่อโจทก์ไปยังสถานที่ประมูลทรัพย์ของจำเลยที่ 1 พบว่ามีเพียงป้ายประกาศว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ประสงค์จะประมูลอยู่ในอันดับที่ 38 แต่ไม่มีการประมูลโดยไม่ทราบเหตุผล ครั้นโจทก์สืบทราบว่าจะมีการประมูลในวันที่ 21 เมษายน 2543 เวลา 11 นาฬิกา โจทก์จึงไปขอประมูลแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าโจทก์หมดสิทธิประมูลและเมื่อโจทก์เข้าไปสถานที่ประมูลก็พบว่ามีการสมรู้ร่วมกันฉ้อฉล (ฮั้วกัน) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหายต้องเสียสิทธิในการประมูลอาคารพาณิชย์ที่ตนครอบครองไป ขอให้ศาลพิพากษาว่าการประมูลทรัพย์สินดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ประมูลในวันที่ 21 เมษายน 2543 เป็นโมฆะ และขอให้เปิดประมูลใหม่ตามวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้ดำเนินการไปตามวิธีการที่คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ และมีการประกาศตามระเบียบและกฎหมายโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ปฏิบัติไม่ครบถ้วน โจทก์เพียงแต่เสนอราคาซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง คือ 7,860,375 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด และโจทก์ไม่ได้ร่วมในขั้นตอนการประมูลแข่งขันราคาดังกล่าว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขัดแย้งกันเอง อีกทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 กล่าวคือ โจทก์มิได้ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้บัญญัติชัดแจ้งในมาตรา 30 จัตวา ว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่ขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ มิอาจกระทำได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การประมูลขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 นั้น กระทำโดยชอบตามขั้นตอนและตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่พิพาท จำเลยที่ 3 ประมูลซื้อทรัพย์สินในคดีนี้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยชอบด้วยกฎหมาย จะมีการฮั้วกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่อย่างไร จำเลยที่ 3 ไม่ทราบ และไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องหรือสมรู้ร่วมคิดด้วย อีกทั้งสามีของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้มีเพื่อนเป็นกรรมการเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในฐานะเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 และไม่มีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาให้การประมูลขายทรัพย์สินคดีนี้เป็นโมฆะหรือขอให้ศาลเพิกถอนการประมูลเพราะหากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า ตามหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ว่ามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของชาติอย่างรวดเร็วและจำเป็นต้องเร่งรัดให้มีการระดมเงินทุนเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจและสำหรับสถาบันการเงินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ให้องค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมเพื่อชำระบัญชีต่อไปซึ่งในการชำระบัญชีจำเป็นต้องขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินนั้นเพื่อมิให้เป็นอุปสรรค์ในการดำเนินการจำเป็นต้องมีมาตรการเป็นพิเศษผ่อนคลายจากกรณีปกติทั่วไปเพื่อให้องค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงินสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายให้แล้วเสร็จได้รวดเร็วเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทรัพย์สินอันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ จากเหตุผลดังกล่าวแสดงว่าการขายทอดตลาดอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งดำเนินการโดยจำเลยที่ 1 เพื่อชำระบัญชีต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อกฎหมายดังกล่าวในมาตรา 30 จัตวา บัญญัติว่าการเพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ จะกระทำไม่ได้ โจทก์หรือบุคคลใดๆ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอนรวมทั้งไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันเป็นที่มาของการโอนทรัพย์รายนี้ด้วยกรณีจึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share