คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและรับเหมาก่อสร้างบ้านกับรับเงินแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ทำสัญญากับลูกค้าด้วยตนเอง เมื่อมีปัญหาจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้เจรจาตกลงซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจในการดำเนินการกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนในกิจการของตน การที่จำเลยที่ 3 เจรจาตกลงทำบันทึกเอกสารหมาย จ. 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผ่อนชำระเงินคืนให้โจทก์ถึง 8 งวด ตามบันทึกข้อตกลงและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์ตกลงคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้สัตยาบันในการกระทำของจำเลยที่ 3 แล้ว มีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๑๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่ชำระเงินค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือ ทั้งที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ ๓ กลับทำบันทึกข้อตกลงพิพาทกับโจทก์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์สำคัญผิดและโดยไม่มีอำนาจเพราะจำเลยที่ ๓ เพิ่งทราบว่าไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินให้โจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยที่ ๓ กระทำเกินหน้าที่ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๑๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๒) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก (ที่ถูก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓)
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๐๖,๒๕๐ บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๑,๕๐๐ บาท แทนโจทก์ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๓ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเนื้อที่ ๑๒๖ ตารางวา จากจำเลยที่ ๑ และทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ ๒ ทำการก่อสร้างบ้านในที่ดินดังกล่าว ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลังจากทำสัญญาโจทก์ได้ผ่อนชำระเงินให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไปจำนวน ๔๐๕,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๓ จะนำที่ดินและบ้านดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่ผู้อื่นจึงไปทำการคัดค้าน จำเลยที่ ๓ ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมคืนเงินจำนวน ๔๐๕,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์โดยขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ โดยงวดแรกชำระ ๔๕,๐๐๐ บาท และงวดต่อไปงวดละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๕ และต่อมาได้มีการผ่อนชำระเงินคืนให้โจทก์ ๘ งวด เป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท คงค้างอยู่อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. ๕ หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล. ๓ และ ล. ๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายและรับเหมาก่อสร้าง กับรับเงินแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้น แต่จำเลยที่ ๓ ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ ๓ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท โครงการของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ส่วนใหญ่จำเลยที่ ๓ จะเป็นผู้ทำสัญญากับลูกค้าด้วยตนเอง นอกจากนี้ปรากฏว่าเมื่อมีปัญหาจำเลยที่ ๓ ก็จะเป็นผู้เจรจาตกลงซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จากพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เชิดให้จำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทนในการดำเนินกิจการของตน การที่จำเลยที่ ๓ เจรจาตกลงทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. ๕ เกี่ยวกับเรื่องสัญญาจะซื้อจะขายและรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการ
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อ้างว่า จำเลยที่ ๓ ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยพลการและไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๓ กระทำไปโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบเขตจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. ๕ แล้ว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ผ่อนชำระเงินคืนให้แก่โจทก์รวม ๘ งวด ตามหลักฐานการจ่ายเงินและรับเงินเอกสารหมาย จ. ๖ นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ขายที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์ตกลงคืนให้แก่นายธรรมรงค์ไปแล้ว จึงเป็นการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยินยอมเข้าผูกพันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันในการกระทำของจำเลยที่ ๓ แล้ว บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. ๕ จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่อาจกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เข้าทำข้อตกลงโดยพลการและมูลหนี้ที่ตกลงชำระกันเป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบได้ อีกทั้งการให้สัตยาบันดังกล่าวมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงทั้งหมด หาใช่เป็นการให้สัตยาบันเฉพาะในมูลหนี้ที่ได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้ว ดังที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑,๓๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share