แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจก่อตั้งขึ้นโดยนิติกรรมหรือพินัยกรรม อำนาจหน้าที่ของทรัสต์จึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดแห่งนิติกรรมหรือพินัยกรรมนั้น กับต้องปฎิบัติภายในขอบเชตแห่งข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งทรัสต์นั้นด้วย แม้ทรัสต์จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นทรัสต์ ก็จะนำอำนาจกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้โดยตลอดไปมิได้
ที่ดินและกุฎีเจ้าเซ็นหรือกุฎีเจริญพาศน์ซึ่งก่อตั้งเป็นทรัสต์โดยใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอ๊ะทั้งที่อยู่ในจังหวัดพระนครและต่างจังหวัดเป็นประจำทุกปีมาประมาณ 100 ปี แล้ว ไม่ปรากฎการกระทำเพื่อกิจการอื่นใดย่อมแสดงว่าผู้ก่อตั้งทรัสต์มีเจตนาในการก่อตั้งโดยเฉพาะให้ทรัสต์รายนี้เป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอ๊ะเท่านั้น โจทก์ผู้เป็นทรัสต์แม้จะมีชื่อในโฉนดที่ดินรายนี้ ก็ไม่มีอำนาจรื้อถอนกุฎีรายนี้ไปปลูกสร้างในที่อื่นได้ เพราะเป็นการกระทำให้ทรัสต์รายนี้สิ้นสภาพหรือสลายไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทรัสต์กุฎีเจริญพาศน์ โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๔๙๙ ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี พร้อมด้วยกุฎีซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่รายนี้ โจทก์ใช้ที่ดินและกุฎีนี้สำหรับประกอบศาสนกิจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอ๊ะตามคำสั่งของบรรพบุรุษของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาแต่เดิมนับเวลาหลายสิบปีก่อนที่จะได้แก่โจทก์ทางมรดกและได้ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “กุฎีเจริญพาศน์” บัดนี้โจทก์ในฐานะทรัสต์ประสงค์จะรื้อถอนกุฎีเจริญพาศน์และขนย้ายไปสร้างในบริเวณกุฎีใหม่ที่ตำบลบางแค่ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เพราะเหตุว่ากุฎีเดิมชำรุดไม่ปลอดภัย แต่จำเลยทั้ง ๕ คนได้ขัดขวางไม่ยอมให้รื้อ จึงของให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องขัดขวางในการที่โจทก์จะรื้อถอนและย้ายกุฎีรายนี้
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรื้อถอนขนย้ายตัวกุฎีหรือนำเอาที่ดินของกุฎีไปทำนิติกรรมผู้พันกับบุคคลภายนอกหรือประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ และฟ้องแย้งของให้เพิกถอนการเป็นทรัสต์ของโจทก์
วันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับกันหลายประการ และตกลงให้ศษลวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า “โจทก์เป็นทรัสตี จะมีอำนาจรื้อถอนกุฎีเจ้าเซ็น(เจริญพาศน์) จากที่ปลูกสร้างปัจจุบันไปสร้างในที่ใหม่ตำบลบางแคได้หรือไม่” และไม่สืบพยาน
ศาลชั้นตันพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ซ่อมแซมกุฎีเจ้าเซ็นหรือกุฎีเจริญพาศน์คืนสู่สภาพเดิม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อที่พิพากษาให้โจทก์ซ่อมแซมกุฎีเจริญพาศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม เป็นไม่บังคับให้โจทก์ต้องซ่อมแซม และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๓ จำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นทรัสตีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การก่อตั้งหทรัสต์รายนี้ปรากฎตามโฉนดที่ ๒๔๙๙ ว่า นาายเสงี่ยมเป็นทรัสตีตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๙๙ แล้วได้จดทะเบียนเปลี่ยนแก้ตัวบุคคลผู้เป็นทรัสตีกันมาตามลำดับ จนวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๐๓ ได้จดทะเบียนโอนเปลี่ยนนามให้โจทก์เป็นทรัสตีรายนนี้ จึงรับฟังได้ว่าเป็นทรัสต์ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตามหลักทรัสต์อาจก่อตั้งขึ้นโดยนิติกรรมหรือพินัยกรรม อำนาจหน้าที่ของทรัสตีจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดแห่งนิติกรรมหรือพินัยกรรมดังดล่าว กับต้องปฏิบัติภายในขอบเขตแห่งข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งทรัสต์นั้นด้วย แม้ทรัสตีจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นทรัสต์แต่จะนำอำนาจกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้โดยตลอดไปมิได้
ตามที่ปรากฎในฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทรัพย์สินที่เป็นทรัสต์รายนี้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๙๙ และกุฎีเจ้าเซ็นหรือกุฎีเจริญพาศน์ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ที่ดินและกุฎีดังกล่าวนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอ๊ะทั้งที่อยู่ในจังหวัดพระนครและต่างจังหวัดเป็นประจำทุกปีมาประมาณ ๑๐๐ ปีแล้ว ไม่ปรากฎการกระทำเพื่อกิจการอื่นใดอีกเลย จึงฟังได้ว่าผู้ก่อตั้งทรัสต์มีเจตนาในการก่อตั้งโดยเฉพาะให้ทรัสต์รายนี้เป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนอิสลามนิกายชีอ๊ะเท่านั้น ถ้ากุฎีเจ้าเซ็นหรือกุฎีเจริญพาศน์ถูกรื้อถอนไป สถานที่สำหรับประกอบกิจทางศาสนาก็จะไม่มีในที่ดิน—–โฉนดเลขที่ ๒๔๙๙ และถ้าใช้ที่ดินแปลงนี้ให้เช่าปลูกสร้างอาคารอื่นดังโจทก์กล่าวในคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยว่าเพื่อหารายได้บำรุงกุฎีใหม่ที่จะสร้างขึ้นแล้ว ที่ดินรายนี้ก็จะหมดสภาพจากสถานที่ประกอบกิจการศาสนาตามวัตถุประสงค์ของทรัสต์ที่ได้ปฎิบัติมานานปีแล้ว และเป็นการกระทำให้ทรัสต์รายนี้สิ้นสภาพหรือสลายไป ศาลฎีกาเห็นว่า
โจทก์ไม่มีอำนาจรื้อถอนกุฎีเจ้าเซ็นหรือกุฎีเจริญพาศน์ไปปลูกสร้างในที่ใหม่ พิพากษายืน.