คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7276/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีของโจทก์ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายนพ.ศ.2515(ฉบับที่2)พ.ศ.2530มีผลใช้บังคับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯยังไม่เสร็จสิ้นเพราะกรุงเทพมหานครจำเลยยังไม่ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนดังนั้นการดำเนินการต่อไปจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายนพ.ศ.2515(ฉบับที่2)พ.ศ.2530มาตรา9วรรคสองและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา36วรรคสองแม้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ซึ่งขณะที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงออกใช้บังคับก็ตามแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองบัญญัติว่าถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนและวรรคสามบัญญัติว่าถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยมาตรา21วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปตามด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์เมื่อปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา21วรรคหนึ่งที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา21วรรคสี่นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา21วรรคหนึ่งเท่านั้นแม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา21วรรคสี่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา21วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้วฝ่ายจำเลยและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้ การเวนคืนที่ดินรายพิพาทนี้เป็นกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯโดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่นกรณีจึงต้องตามมาตรา23แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ซึ่งหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนต้องอนุโลมตามมาตรา21เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนทำให้มีถนนผ่ากลางที่ดินที่ดินส่วนที่เหลือทั้งสองข้างกลายเป็นที่ดินติดถนนใหญ่กว้าง40เมตรคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่โดยสภาพดังกล่าวย่อมเห็นประจักษ์ว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์จะต้องมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอนและพอจะนำมาเทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ติดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้และจำเลยคำนวณราคาที่ดินที่สูงขึ้นเฉพาะส่วนที่ลึกจากริมถนนตัดใหม่ไม่เกิน20เมตรเท่านั้นเป็นเนื้อที่212ตารางวาเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่าในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและนิติกรรมฯซึ่งกำหนดราคาในลักษณะนี้ไว้ไม่เกิน40เมตรอัตราส่วนของราคาประเมินที่ดินติดริมถนนเพชรบุรีกับราคาประเมินที่ดินติดถนนซอยสาธารณะลึกจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่เข้าไปไม่เกิน1กิโลเมตรตามบัญชีดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นมีอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า4:1จำนวนเนื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ที่มีราคาสูงขึ้นมีมากกว่าจำนวนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์คือ212:166.5ทั้งที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาประเมินต่อตารางวาสูงขึ้นจากเดิมมากกว่า3เท่าตัวและอัตราส่วนของราคาที่ดินดังกล่าวที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของแต่ละช่วงเวลาที่นำมาเปรียบเทียบข้างต้นคงมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันด้วยจึงเห็นได้ว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา21แล้วแม้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการกำหนดเงินค่าทดแทนจะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯคือวันที่1มกราคม2522หรือวันหนึ่งวันใดหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องคือวันที่22กันยายน2535ก็ตามผลก็จะปรากฏเหมือนกันว่าที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์มีราคาสูงขึ้นจากเดิมอันเนื่องจากการเวนคืนตัดถนนเกินกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์เสมอโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่511 เลขที่ 73 หน้าสำรวจ 150 ตำบลวังทองหลาง(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่1 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามลำดับ และจำเลยที่ 1 และที่ 2อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่29 ธันวาคม 2521 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาล ในท้องที่แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิเขตห้วยขวาง และแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2521 ประกาศเวนคืนที่ดินในท้องที่แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิเขตห้วยขวาง และแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และเป็นผู้รักษาการ ตามลำดับ ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 166.5 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 7,000 บาทเป็นเงิน 1,165,500 บาท แต่อ้างว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น อันเป็นผลจากการตัดถนนเมื่อคิดคำนวณและหักกลบกันแล้วเกลื่อนกลืนกัน จึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 ก็มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาเพื่อก่อสร้างอาคารเป็นสำนักงานและที่อยู่อาศัยจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวได้ถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์สามารถออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่และถนนพระราม 9 ได้โดยสะดวก ซึ่งเป็นทำเลที่มีความเจริญทางด้านธุรกิจอย่างมาก การเวนคืนดังกล่าวทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือไม่อาจดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์และโจทก์ไม่อาจใช้ที่ดินได้เต็มเนื้อที่ทั้งที่ดินของโจทก์ที่เหลือไม่มีราคาสูงขึ้นโดยในขณะเวนคืนที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 60,000 บาท การที่คณะกรรมการของจำเลยทั้งสี่กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 7,000 บาท จึงเป็นราคาที่ต่ำมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพที่ดิน วัตถุประสงค์ของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด จึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ได้กำหนดให้การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวปัจจุบันยังมิได้มีการประกาศใช้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการเองว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ดังนี้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างเหตุความเจริญเพราะที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาหักกับเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ได้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 166.5 ตารางวา มีการซื้อขายตารางวาละ 60,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 9,990,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2เป็นผู้กระทำการแทนกรุงเทพมหานครจึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 43/2531 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลในท้องที่แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวางและแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2521การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้น คณะกรรมการดังกล่าวได้ปฏิบัติไปตามระเบียบและแบบแผนของทางราชการ โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ 647 ตารางวาตั้งอยู่ในโซน 15 บล็อกเอ็น ถูกเวนคืนบางส่วนประมาณ 166.5 ตารางวาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2531 ถึง 2534 กำหนดราคาตารางวาละ7,000 บาท เป็นเงิน 1,165,500 บาท แต่เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เหลือจากการเวนคืนเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกมีเนื้อที่ 268.5 ตารางวา ไม่ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนที่ดินโดยสภาพ ส่วนที่สองซึ่งอยู่ติดขอบถนนลึกเข้าไปข้างละ 20 เมตร มีเนื้อที่ 212 ตารางวาได้รับประโยชน์จากการเวนคืนที่ดินโดยสภาพ ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบกับที่ดินที่ตั้งอยู่ติดถนนเพชรบุรีตัดใหม่โซน 16 บล็อกเอ็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการคล้ายคลึงกันหรือใกล้เคียงกันซึ่งสำเร็จแล้ว มีราคาตารางวาละ 50,000 บาท ปรากฏว่าราคาค่าที่ดินที่สูงขึ้นคำนวณได้เป็นเงิน 9,116,000 บาท เมื่อนำค่าที่ดินที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแล้วเป็นเหตุให้เกลื่อนกลืนกัน โจทก์จึงไม่ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบว่าที่ดินดังกล่าวได้ถูกเวนคืน และที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าซื้อรวมกับที่ดินแปลงอื่นอีก 4 แปลง สามารถเข้าออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่และถนนพระราม 9 ได้โดยสะดวกนั้น ความจริงเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ต้องอาศัยผ่านที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ติดซอยแยกจากซอยศูนย์วิจัย 14 เป็นระยะทาง20 เมตร รวมระยะทางประมาณ 800 เมตร จึงจะออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้แต่ไม่สามารถออกสู่ถนนพระราม 9 ได้เพราะมีคลองแสนแสบกั้นขวางคณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์นำเอาพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วมาใช้บังคับนั้นไม่ถูกต้อง ศาลต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า “การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” ขณะที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นออกใช้บังคับ จำเลยและศาลย่อมไม่มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ได้ ดังนั้นแม้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์จะมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการคำนวณว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นและนำมาหักกับเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เห็นว่า กรณีของโจทก์ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับ การดำเนินการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯยังไม่เสร็จสิ้นเพราะจำเลยยังไม่ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ ดังนั้นการดำเนินการต่อไปจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530มาตรา 9 วรรคสอง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง แม้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งขณะที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขั้นหรือลดลงออกใช้บังคับก็ตามแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปตามด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้าม หากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสามใช้ไม่ได้ หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้ว ฝ่ายจำเลยและศาลย่อมนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับได้
มีปัญหาตามฎีกาโจทก์อีกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมิได้มีราคาสูงขึ้นและที่ดินของโจทก์มิใช่มีราคาตารางวาละเพียง 7,000 บาท การที่จำเลยและศาลกำหนดราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์เนื้อที่ 212 ตารางวามีราคาสูงขึ้นเป็นตารางวาละ 50,000 บาท นั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน3,330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า การเวนคืนที่ดินรายพิพาทนี้เป็นกรณีที่มีการใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯ โดยมิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนต้องอนุโลมตามมาตรา 21 ปรากฏตามสำเนาบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมและนิติกรรมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ถึง 2534ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกมาว่าอัตราส่วนของราคาที่ดินติดริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ลึกจากริมถนนเข้าไปไม่เกิน 40 เมตรกับที่ดินติดถนนซอยสาธารณะหรือซอยเอกชนที่รถยนต์เข้าถึงลึกจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่เข้าไปไม่เกิน 1 กิโลเมตร พ.ศ. 2519ถึง 2521 ตารางวาละ 10,000 บาท : 2,000 บาท อัตราส่วนเท่ากับ 5 : 1 พ.ศ. 2522 ถึง 2524 ตารางวาละ12,000 บาท : 2,500 บาท เท่ากับ 24 : 5 พ.ศ. 2525ถึง 2527 ตารางวาละ 20,000 บาท : 5,000 บาท เท่ากับ4 : 1 พ.ศ. 2528 ถึง 2530 ตารางวาละ 30,000 บาท : 7,000 บาทเท่ากับ 30 : 7 พ.ศ. 2531 ถึง 2534 ตารางวาละ50,000 บาท : 7,000 บาท เท่ากับ 50 : 7 ที่ดินของโจทก์ติดถนนซอยสาธารณะและซอยเอกชนที่รถยนต์เข้าถึงลึกจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ 800 เมตร จึงเข้ากรณีอยู่ในหน่วยหลังเมื่อที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนทำให้มีถนนผ่ากลางที่ดินที่ดินส่วนที่เหลือทั้งสองข้างกลายเป็นที่ดินติดถนนใหญ่กว้าง 40เมตร คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่โดยสภาพดังกล่าวย่อมเห็นประจักษ์ว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์จะต้องมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน และพอจะนำมาเทียบเคียงกับราคาที่ดินที่ติดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้ และจำเลยคำนวณราคาที่ดินที่สูงขึ้นเฉพาะส่วนที่ลึกจากริมถนนตัดใหม่ไม่เกิน20 เมตร เท่านั้นเป็นเนื้อที่ 212 ตารางวา เป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่าในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและนิติกรรมฯ ซึ่งกำหนดราคาในลักษณะนี้ไว้ไม่เกิน 40 เมตร อัตราส่วนของราคาประเมินที่ดินติดริมถนนเพชรบุรีกับราคาประเมินที่ดินติดถนนซอยสาธารณะลึกจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่เข้าไปไม่เกิน 1 กิโลเมตร ตามบัญชีดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นมีอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 4 : 1 จำนวนเนื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ที่มีราคาสูงขึ้นมีมากกว่าจำนวนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์คือ 212 : 166.5 ทั้งที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาประเมินต่อตารางวาสูงขึ้นจากเดิมมากกว่า 3 เท่าตัว และอัตราส่วนของราคาที่ดินดังกล่าวที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของแต่ละช่วงเวลาที่นำมาเปรียบเทียบข้างต้น คงมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงเห็นได้ว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนของโจทก์โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 แล้ว แม้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการกำหนดเงินค่าทดแทนจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นวันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงเทศบาลฯ คือวันที่ 1 มกราคม 2522 หรือวันหนึ่งวันใดหลังจากนั้น จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 กันยายน 2535 ก็ตาม ผลก็จะปรากฏเหมือนกันว่าที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์มีราคาสูงขึ้นจากเดิมอันเนื่องจากการเวนคืนตัดถนนเกินกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์เสมอ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน
พิพากษายืน

Share