แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจระบุให้อำนาจตัวแทนทำกิจการแทนตัวการไว้หลายอย่างและให้ยื่นฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวการได้ด้วย ดังนี้ ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนตัวการได้หาจำต้องมีการมอบอำนาจกันเฉพาะเรื่องเฉพาะรายไม่
ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 บัญญัติว่า ตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลได้นั้น มีความหมายแต่เพียงว่า หากการมอบอำนาจมิได้ระบุไว้ว่าให้ตัวแทนยื่นฟ้องต่อศาลแทนตัวการ ตัวแทนก็ไม่อาจยื่นฟ้องได้
หนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าถึงผู้เช่า มีข้อความว่า’ขอรับตึกแถวดังกล่าวคืนจากการเช่าจากท่าน เพื่อมาทำการปรับปรุง’ ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกการเช่าโดยชอบแม้จะมีข้อความต่อไปว่า หากผู้เช่าขัดข้องอย่างไรก็ขอได้กรุณาแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบด้วย ก็เป็นแต่เพียงการแสดงความสุภาพในการใช้ถ้อยคำเท่านั้น ไม่เปลี่ยนแปลงความประสงค์ของผู้ให้เช่าอันเป็นสาระสำคัญที่จะเลิกการเช่า
สัญญาเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา 1 ปี และมีข้อสัญญาข้อหนึ่งว่า เมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าให้ตามกำหนดและปฏิบัติตามข้อสัญญาครบถ้วน ผู้เช่าจะอยู่ในสถานที่เช่าได้โดยสบายตลอดระยะเวลาที่เช่าซึ่งกล่าวแล้ว เว้นเสียต่อทางการหรือรัฐบาลต้องการเพื่อผลประโยชน์ใด ๆ แล้ว แม้แต่ยังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาเช่าผู้เช่าจำต้องส่งสถานที่เช่าคืนภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าบอกกล่าวข้อสัญญานี้ย่อมมีผลใช้บังคับเฉพาะภายในกำหนดอายุสัญญาเช่า 1 ปีเท่านั้น เมื่อสัญญาเช่าระงับเมื่อครบ 1 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวย่อมระงับไปด้วย. ไม่มีผลใช้บังคับถึงการเช่าต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวสองห้องของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า การบอกเลิกการเช่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหลวงวุฒิศักดิ์เนตินาทเป็นตัวแทนทั่วไป ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งไม่มีอำนาจมอบให้นายเสริมขอรับตึกแถวคืนเพราะไม่เป็นไปตามหนังสือมอบอำนาจข้อ 15 และกรณีไม่เข้าตามสัญญาเช่าข้อ 13 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานพิพากษาขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าถึงวันฟ้อง 6,060 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากตึกพิพาทและส่งมอบให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตึกแถวพิพาททั้งสองห้องนี้ เดิมสำนักงานพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลจัดการผลประโยชน์อยู่ ได้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2496 ให้จำเลยเช่าทำเป็นที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ สัญญาเช่ามีกำหนดหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2497เป็นต้นไป ค่าเช่าเดือนละ 600 บาท กำหนดชำระค่าเช่าล่วงหน้าในวันต้นเดือนปฏิทินทุก ๆ เดือน ตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้อง เมื่อพ.ศ. 2506 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีโจทก์ทรงได้รับโอนตึกแถวพิพาทพร้อมที่ปลูกตึกอันเป็นพระราชมรดกของสมเด็จพระพันปีหลวงจากสำนักงานพระคลังข้างที่ เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาที่จำเลยเช่าจากสำนักงานพระคลังข้างที่แล้ว จำเลยคงครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอย่างเดิม และชำระค่าเช่าตลอดมาจนกระทั่งตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2512 โจทก์โดยสำนักงานจัดการผลประโยชน์ของโจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนตึกแถวพิพาทรายนี้ และขอตึกแถวคืนเพื่อทำการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ จำเลยทราบแล้วไม่ยอมมอบตึกแถวคืนให้หลวงวุฒิศักดิ์เนตินาท ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมอบอำนาจให้นายเสริม กาญจนสุมน ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบเรื่องและขอรับตึกคืนอีกครั้งตามสำเนาเอกสารหมาย 3 ท้ายฟ้อง จำเลยได้รับหนังสือนายเสริม กาญจนสุมน แล้วไม่ยอมส่งมอบตึกคืนให้โจทก์คงอยู่ตลอดมาและค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2512 เพราะโจทก์ไม่ไปเก็บค่าเช่าตามปกติ
ที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปมิใช่มอบอำนาจเฉพาะ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจนี้ได้ระบุให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจไว้ให้ทำการยื่นฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้มอบอำนาจได้ ต้องด้วยความในวรรคสอง (5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 แล้ว หาจำเป็นต้องมอบอำนาจกันเฉพาะเรื่องเฉพาะรายไม่ บทบัญญัติมาตรานี้มีความหมายแต่เพียงว่าหากการมอบอำนาจมิได้ระบุไว้ว่าให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลแทนผู้มอบอำนาจได้ผู้รับมอบอำนาจก็ไม่มีอำนาจยื่นฟ้องดังกล่าวได้
ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือบอกกล่าวท้ายฟ้องมิใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าโดยเด็ดขาดนั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความของหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวที่ว่า”ขอรับตึกแถวดังกล่าวคืนจากการเช่าจากท่าน เพื่อมาทำการปรับปรุง”นั้น เห็นได้ว่าเป็นการบอกเลิกการเช่าระหว่างโจทก์จำเลยนั่นเองส่วนข้อความที่ว่า “ถ้าท่านขัดข้องอย่างไร ก็ขอให้กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าได้ทราบด้วย” นั้น เป็นแต่เพียงการแสดงความสุภาพในการใช้ถ้อยคำเท่านั้น หาได้เปลี่ยนแปลงความประสงค์อันเป็นสารสำคัญที่จะเลิกการเช่าแต่ประการใดไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงตกไปอีก
จำเลยฎีกาด้วยว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเช่าข้อ 13 อันมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้เช่าได้ใช้อาคารที่เช่าโดยสบาย พ้นจากการรบกวนโดยการขับไล่เว้นแต่ทางราชการหรือรัฐบาลจะต้องการใช้ประโยชน์อย่างอื่นจึงจะมีการขับไล่กัน สัญญาเช่าข้อ 13 มิได้มุ่งหมายที่จะใช้บังคับภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีตามสัญญาเช่าเดิมซึ่งสิ้นอายุไปแล้วเท่านั้น หากมุ่งหมายถึงการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลาต่อมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญายังคงมีอยู่อย่างเดิมด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนวันต้นเดือนเมษายน 2512 อันเป็นวันชำระค่าเช่าล่วงหน้าตามสัญญา และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2512 การบอกเลิกได้ทำขึ้นก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง คือ ก่อนหนึ่งเดือนสำหรับการเช่าในคดีนี้ เป็นการบอกเลิกการเช่าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วสัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับจำเลยผู้เช่าหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2497 เป็นสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 ที่สัญญาเช่า ข้อ 13 มีความว่า “เมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าให้ตามกำหนด และปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ปรากฏอยู่ในนี้ครบถ้วนแล้ว ผู้เช่าจะอยู่ในสถานที่เช่าได้โดยสบายตลอดระยะเวลาซึ่งกล่าวแล้ว เว้นเสียแต่ทางการหรือรัฐบาลต้องการเพื่อผลประโยชน์ใด ๆ แล้ว แม้แต่ยังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาเช่า ผู้เช่าจำต้องส่งสถานที่เช่าคืนภายในกำหนดหนึ่งเดือนปฏิทิน นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้เช่าทราบเป็นต้นไป… “นั้น มีข้อความแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาอยู่ชัดแจ้งว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับเฉพาะภายในกำหนดอายุสัญญาเช่าหนึ่งปีเท่านั้น ไม่อาจแปลไปได้ว่ามีผลใช้บังคับในการเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลาดังที่จำเลยฎีกาเมื่อสัญญาเช่าเดิมระงับเมื่อครบกำหนดหนึ่งปี ข้อกำหนดดังกล่าวก็ระงับไปด้วย หาใช่กรณีที่จะนำหลักการตีความแสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 มาปรับตามที่จำเลยฎีกาไม่ การที่จะแปลสัญญาว่า ตราบใดที่ทางการหรือรัฐบาลยังไม่ต้องการตึกพิพาทเพื่อประโยชน์ใด ๆ แม้จะในระหว่างการเช่าต่อไปไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ก็จะฟ้องขับไล่จำเลยมิได้ดังข้อฎีกาของจำเลยนั้น จึงมิอาจกระทำได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยคงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ฯลฯ พิพากษายืน