คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7274/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้นำรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยซึ่งประกันภัยไว้กับโจทก์ไปซ่อมแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว แม้ขณะฟ้องโจทก์จะยังไม่ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวเนื่องจากอู่ยังซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไม่เสร็จก็ตาม แต่การที่โจทก์นำรถยนต์คันที่รับประกันภัยไปให้อู่ซ่อมและทางอู่ได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าทางอู่ได้ซ่อมรถยนต์จนเสร็จและมอบรถยนต์ให้แก่เจ้าของรถยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินราคาค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ผู้ทำการซ่อม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมาเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ยังไม่จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ จึงไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๐ เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๙ – ๘๔๕๓ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค – ๖๒๗ ปทุมธานี ของนายอดุลย์ จันทร์อำรุง ได้รับความเสียหาย นายอดุลย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นางจินตนา จันทร์อำรุง และเด็กชายดนัย จันทร์อำรุง ซึ่งโดยสารมาด้วยถึงแก่ความตาย โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้แก่นายอดุลย์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของนางจินตนากับเด็กชายดนัย รวมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท และได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมที่อู่โดยจ่ายค่าซ่อมรถยนต์ไปเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์จากจำเลยทั้งสามได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์คันที่รับประกันภัย เนื่องจากอู่ยังซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไม่เสร็จก็ตาม แต่การที่โจทก์นำรถยนต์คันที่รับประกันภัยไปให้อู่ทำการซ่อมและทางอู่ได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ผู้ทำการซ่อมตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏต่อมาว่าทางอู่ได้ทำการซ่อมรถยนต์จนเสร็จและมอบรถยนต์ให้แก่นายอดุลย์ไปเรียบร้อยแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินราคาค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ผู้ทำการซ่อม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยมาเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐ วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์อีกจำนวน ๓๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในค่าเสียหายดังกล่าวจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๒ จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share