คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย มีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหายจำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายหาได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยได้ลักเอาเงินสด1,100,000 บาท ของบริษัทธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) และให้จำเลยคืนเงิน 1,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ประจำอยู่ที่สาขาสำเพ็ง แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยทำหน้าที่รับและจ่ายเงินที่ลูกค้ามาฝากและถอน ซึ่งผู้เสียหายเรียกตำแหน่งนี้ว่า พนักงานรับจ่ายเงินสาขาสำเพ็งของผู้เสียหาย มีช่องสำหรับลูกค้ามาฝากและถอนเงิน 12 ช่อง โดยพนักงานรับจ่ายเงินจะผลัดเปลี่ยนกันนั่งช่องละ 2 วัน วันเกิดเหตุที่อ้างว่าเงินหาย คือวันที่ 30 มีนาคม 2538 จำเลยนั่งที่ช่องหมายเลข 3 ช่องฝากถอนเงินแต่ละช่องมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เป็นอุปกรณ์สำหรับพนักงานรับจ่ายเงินใช้ทำรายการฝากถอนข้อมูลของลูกค้าจะถูกส่งไปเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลแม่ข่ายที่สำนักงานใหญ่พนักงานรับจ่ายเงินมีเลขรหัสและบัตรประจำตัวสำหรับใช้ทำรายการฝากถอน และมีอำนาจรับจ่ายเงินเพียงภายในวงเงินที่ได้รับอำนาจ หากมีการฝากถอนเกินอำนาจ จะต้องขออนุมัติจากผู้มีอำนาจสูงกว่า จำเลยใช้เลขรหัสประจำตัว 112067 และมีอำนาจทำรายการฝากถอนได้ครั้งละไม่เกิน 1,000,000 บาท

มีปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง หรือเป็นเพียงความผิดฐานยักยอก เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหายมีหน้าที่รับจ่ายเงินสดแทนผู้เสียหาย จำเลยมีอำนาจยึดถือเงินสดของผู้เสียหายไว้เพียงชั่วระยะเวลาทำการ พฤติการณ์เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยยึดถือเงินสดเพื่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินสดให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

พิพากษายืน

Share