แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้อง ของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร แม้ตามคำฟ้องจะปรากฏว่า โจทก์ เคยฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดว. ในหนี้ดังกล่าว ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดว. รับผิดในหนี้ดังกล่าวแล้วก็ตามก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้กลายเป็นหนี้ ตามคำพิพากษาดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไม่ คดีของ โจทก์จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเพียงคนเดียวของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวรับผิดในบรรดาหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวด้วย
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า เนื่องจากตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีเกี่ยวด้วยหนี้ตามคำพิพากษา หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 จึงไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร และจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นในเบื้องต้นต้องวินิจฉัยก่อนว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 10 วรรคสอง อำนาจในการวินิจฉัยกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือไม่ เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาจึงได้ส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วตามคำวินิจฉัยที่ ภษ.2/2542 ซึ่งประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะปรากฏว่า โจทก์เคยฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งในหนี้ดังกล่าวซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่ง รับผิดในหนี้ดังกล่าวแล้วก็ตามก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้กลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาดังที่ศาลถาษี อากรกลางวินิจฉัยไม่ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2) เมื่อคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางได้”
พิพากษากลับ ให้ศาลภาษีอากรกลางรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป