คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6507/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. มีต่อจำเลยทั้งสี่และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 746,053.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 502,506.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 502,506.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็มอาร์อาร์ ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (ที่ถูกธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)) บวก 2.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 5 มกราคม 2544) ต้องไม่เกิน 243,546.96 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ในประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด มาในราคาเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์ซื้อสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด มาในราคาเท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดของที่มาแห่งมูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ มิใช่สภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์จะต้องบรรยายให้แจ้งชัดในคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ดังนั้น แม้คำฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ไปยังจำเลยทั้งสี่โดยชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อรับหนังสือบอกกล่าวตามใบตอบรับมิใช่พนักงานของจำเลยทั้งสี่จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งคำบอกกล่าวโดยชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ส่งหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิเสธว่าที่อยู่ตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องที่ส่งไปยังจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสี่ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวไปยังจำเลยทั้งสี่โดยชอบแล้ว แม้บุคคลที่ลงลายมือชื่อรับเอกสารมิใช่พนักงานของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ทำให้การส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ไม่ชอบ หากจำเลยทั้งสี่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของบุคคลดังกล่าวประการใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่ต้องไปว่ากล่าวกันเองต่างหาก ปัญหาประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางพิรญาณ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มาเบิกความโดยมีสัญญากู้เงิน บันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันและการ์ดบัญชีเงินกู้ ซึ่งหนังสือสัญญากู้เงินมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ ในช่องผู้กู้มีลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการและประทับตราสำคัญมีข้อความกำกับว่าเป็นจำเลยที่ 1 โดยลายมือชื่อและตราสำคัญที่ลงไว้มีลักษณะคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 1 ส่วนสัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันและมีลายมือชื่อที่มีข้อความกำกับใต้ลายมือชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการจำเลยที่ 4 สำหรับจำเลยที่ 4 ก็มีการประทับตราสำคัญที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตราสำคัญของจำเลยที่ 4 ในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบปฏิเสธว่ามิใช่ตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 4 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ที่มีเพียงจำเลยที่ 3 และนางสาวฤดีพรมาเบิกความลอย ๆ ว่าลายมือชื่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันตามสัญญากู้เงิน บันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้นไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นลายมือชื่อและตราสำคัญปลอม ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและเพียงพอให้รับฟังแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ตามฟ้อง มีปัญหาประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ และศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็มอาร์อาร์ ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) บวก 2.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นเหมาะสมหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า นอกจากศาลล่างทั้งสองพิพากษานอกคำขอของโจทก์แล้วยังเป็นคำพิพากษาที่ไม่อาจปฏิบัติได้เพราะดอกเบี้ยดังกล่าวขึ้นลงตลอดเวลา และโจทก์รับซื้อสัญญาหนี้มาโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตกลงด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด มีต่อจำเลยทั้งสี่และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นและศาลอุทธรณ์ลดลงเหลืออัตรา เอ็มอาร์อาร์ ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) บวกอีกร้อยละ 2.5 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า แม้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้โดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญากู้เงินก็ตามแต่เป็นการเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับและสูงเกินส่วน สมควรลดลงเท่ากับขณะทำสัญญากู้เงินเท่านั้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ก็เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำขอและปฏิบัติไม่ได้แต่อย่างใด ฎีกาจำเลยทั้งสี่ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share