คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7263/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มติของคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคมเป็นเพียงการตอบข้อหารือในเรื่องการจ่ายค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ตามที่โรงพยาบาล ม. หารือไป มิใช่คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย แม้จำเลยจะส่งมติดังกล่าวไปให้โรงพยาบาลม. อันเป็นสถานพยาบาลที่โจทก์เลือกเพื่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิก็ไม่มีผลบังคับให้โรงพยาบาล ม. ต้องปฏิบัติตาม ทั้งไม่มีผลตัดสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาจนเต็มจำนวนหากโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกได้ มติของคณะกรรมการการแพทย์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนในปี 2539 โจทก์เลือกโรงพยาบาลมเหสักข์เป็นสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ ต่อมาโจทก์ป่วยมีอาการของโรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรงพยาบาลมเหสักข์ได้ส่งโจทก์ไปโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทำการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากโรงพยาบาลมเหสักข์ไม่สามารถทำการผ่าตัดให้ได้โรงพยาบาลศิริราชไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวจึงให้โจทก์ทดรองจ่ายซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวไปก่อน หลังทำการผ่าตัดเสร็จแล้วโรงพยาบาลศิริราชได้มีหนังสือแจ้งให้โรงพยาบาลมเหสักข์จ่ายค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์คืนให้แก่โจทก์ แต่โรงพยาบาลมเหสักข์ไม่ยอมจ่าย ต่อมาคณะกรรมการการแพทย์สำนักงานประกันสังคม ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลมเหสักข์แจ้งมติคณะกรรมการการแพทย์ว่าโจทก์ต้องรับผิดชอบค่าอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าวเอง ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการการแพทย์และมีคำสั่งว่าโจทก์ในฐานะผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองในการรับการรักษาพยาบาลเต็มจำนวน

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่เคยมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ให้โจทก์ปฏิบัติแต่อย่างใด คงมีแต่มติคณะกรรมการการแพทย์ที่ตอบข้อหารือของโรงพยาบาลมเหสักข์และตามหนังสือร้องเรียนของโจทก์เท่านั้น อันมิใช่คำสั่งของจำเลยหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มติของคณะกรรมการการแพทย์ดังกล่าวเป็นการตอบข้อหารือในเรื่องการจ่ายค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคของโรงพยาบาลมเหสักข์ให้แก่โจทก์อันเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 15(4) มิใช่คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย แม้จำเลยจะส่งมติดังกล่าวไปให้โรงพยาบาลมเหสักข์ก็ไม่มีผลบังคับให้โรงพยาบาลมเหสักข์ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งไม่มีผลตัดสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาจนเต็มจำนวนหากโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกได้ ดังนั้น มติของคณะกรรมการการแพทย์ตามหนังสือที่ รส. 0709/6625 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ข้อ 2 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”

พิพากษายืน

Share