คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4299/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคแรก แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่าศาลย่อมมีดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยประกอบด้วย แม้ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสองนั้นเองได้ระบุถึงค่าเสียหายว่าได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเป็นสำคัญก็ตาม แต่ศาลก็จำต้องดูพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นหลักในการคำนวณตามวรรคแรกอยู่ด้วย โดยเฉพาะต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานอาณาบาลมีหน้าที่ว่าคดีให้แก่โจทก์ โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นทนายความฟ้องขับไล่ ป. และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ได้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในราชการตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2467 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยมีหน้าที่ต้องรายงานผลแห่งคดี และเสนอความเห็นไปยังโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้รายงานและเสนอความเห็นไปยังโจทก์ และมิได้ยื่นอุทธรณ์เป็นผลให้คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ป. จึงนำเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์เป็นผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดิน เพราะหากโจทก์อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีให้ถึงที่สุดแล้ว คดีของโจทก์มีทางชนะอย่างยิ่ง เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ ตามพฤติการณ์แห่งคดีราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงซึ่งเกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิด ความเสียหายของโจทก์เป็นการสูญเสียสิทธิและโอกาสในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 127,140,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่าจำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานอาณาบาล มีหน้าที่ว่าคดีให้แก่โจทก์ เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นทนายความฟ้องขับไล่นายปุ๋ยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในราชการตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2467 ต่อมาศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1841/2532 จำเลยมีหน้าที่ต้องรายงานผลแห่งคดี และเสนอความเห็นไปยังโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้รายงานและเสนอความเห็นไปยังโจทก์ และมิได้ยื่นอุทธรณ์ เป็นผลให้คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ นายปุ๋ยจึงนำเอาคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการไปขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ความเสียหายของโจทก์ควรคิดคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 127,140,000 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคแรก บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า ศาลย่อมมีดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยประกอบด้วย จริงอยู่ในมาตรา 438 วรรคสอง นั้นเองได้ระบุถึงค่าเสียหายว่าได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเป็นสำคัญก็ตาม แต่ศาลก็จำต้องดูพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นหลักในการคำนวณอยู่ด้วย โดยเฉพาะต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีนี้ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ เป็นผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดิน เพราะหากโจทก์อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีให้ถึงที่สุดแล้ว คดีของโจทก์มีทางชนะอย่างยิ่งนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ โจทก์ทราบได้อย่างไรว่าโจทก์จะชนะคดีได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีราคาของที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิด ความเสียหายของโจทก์เป็นการสูญเสียสิทธิและโอกาสในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นเงิน 2,000,000 บาท นั้น ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share