คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7244/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์จำเลยและทายาทอื่นที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรนายก็วง นางบันปรากฏดี ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน9 คน จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายก็วงตามคำสั่งศาล โจทก์จำเลยและทายาทนายก็วงได้ทำบันทึกว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 44239 เป็น 9 แปลงแล้วโอนให้ทายาทในภายหลังต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2531 จำเลยได้นำช่างรังวัดแบ่งที่ดินมรดกจนเสร็จ แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินให้แก่ทายาทขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินมรดกตามที่ได้แบ่งแยกไว้แล้วให้แก่โจทก์และทายาทคนอื่น ๆ ของนายก็วง ตามที่กล่าวข้างต้นภายใน 30 วันนับแต่ศาลพิพากษา หากจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 44239 ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดก เพราะนายก็วงได้แบ่งให้บุตรทุกคนแล้ว โจทก์และทายาทอื่นหลอกลวงจำเลยให้ลงชื่อในบันทึก อ้างว่าหากไม่ทำบันทึกให้ทายาทลงชื่อจะแบ่งแยกและโอนทางทะเบียนให้จำเลยไม่ได้ จำเลยไม่มีเจตนาจะแบ่งที่ดินตามบันทึกดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 44239ตามแผนผังที่แบ่งแยกไว้ (เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8) แปลงที่ 1 และที่ 2 ให้นายเบือก แปลงที่ 3 ให้เป็นทางเดิน แปลงที่ 4 ให้นางบีน แปลงที่ 5 ให้โจทก์ แปลงที่ 6 ให้นายรัศมี แปลงที่ 7 ให้นายณรงค์ แปลงที่ 8 ให้นายสุทธิพงษ์ แปลงที่ 9 ให้นางวรรณรัตน์ แปลงที่ 10 ให้จำเลย ภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.5 เป็นบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์จำเลยและทายาทอื่นที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคสอง ใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาแม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับการนำสืบของโจทก์ ฟังได้ว่า ทายาทตกลงแบ่งที่ดินแปลงที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.7และ จ.8 ให้โจทก์ ซึ่งมีเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวาจำเลยเองก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งคัดค้านในเรื่องตำแหน่งและเนื้อที่ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ทั้งยังยอมรับและถือเป็นทุนทรัพย์พิพาทในคดีอีกด้วย จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่วนแบ่งที่ดินพิพาทแปลงที่ 5 ดังกล่าวดังนั้นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์บังคับได้บางส่วน
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 44239ตามแผนผังที่แบ่งแยกไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แปลงที่ 5เลขที่ดิน 344 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ให้โจทก์ภายใน30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา หากจำเลยไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share