คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีร่วมกันคบคิด ติดต่อ ปรึกษา หารือ จัดหา จัดซื้อ ลำเลียง ซุกซ่อน ขนส่ง จัดส่ง ซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวจากพื้นที่อำเภอเชียงของ อำเภอเทิงและอำเภออื่นของจังหวัดเชียงรายไปยังอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่นเพื่อจำหน่ายและแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการสมคบกันดังกล่าวและจำเลยที่ 2 ให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 1 กับพวก ก่อนหรือในขณะกระทำความผิดเกี่ยวยาเสพติด โดยจัดหา ให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด ลำเลียง ซุกซ่อน ขนส่ง จัดส่งเมทแอมเฟตามีน ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 10 ถุง น้ำหนักสุทธิ 9,968.400 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 8,328.598 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่าย โดยการขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นเงิน 10,000,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลเวียงและตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอเชียงของและตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสอง พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว กระเป๋าเป้สะพายหลังสีน้ำตาลดำ 1 ใบ และสีเขียว 1 ใบ ที่ใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน กระสอบปุ๋ยสีฟ้า 1 ใบ ที่ใช้บรรจุกระเป๋าเป้สะพายทั้งสองใบ กระเป๋าผ้าแบบหูหิ้วสีดำเขียว 1 ใบ ที่ใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ที่จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อใช้หรือได้ใช้ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน ใบเสร็จรับเงินค่าเข้าพักในโรงแรม 1 ใบ และเงินสดที่ใช้ล่อซื้อดังกล่าว เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และริบของกลางทั้งหมดยกเว้นเงินที่ใช้ล่อซื้อ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2),66 วรรคสาม, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การสมคบกันกระทำเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 เครื่อง กระเป๋าเป้สะพายหลังสีน้ำตาลดำ กระเป๋าเป้สะพายหลังสีเขียว กระสอบปุ๋ยสีฟ้า และกระเป๋าผ้าแบบหูหิ้วสีดำเขียวของกลาง คืนใบเสร็จรับเงินค่าเข้าพักในโรงแรมแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่เหลือแก่จำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 52 (1) จำคุกตลอดชีวิต ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 2 คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายลักษณะของการสมคบระหว่างจำเลยที่ 1 กับพวกตามฟ้องข้อ 1.1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกที่กระทำการตามฟ้องข้อ 1.1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายให้เห็นถึงการสมคบของจำเลยที่ 1 กับพวก โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนให้มีการสมคบและช่วยเหลือในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นส่วนหนึ่งของการสมคบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แล้วนั้น โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยร่วมกันคบคิด ติดต่อ ปรึกษาหารือ จัดหา จัดซื้อ ลำเลียง ซุกซ่อน ขนส่ง จัดส่ง ซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำการดังกล่าวโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อนำยาเสพติดดังกล่าวจากพื้นที่อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง และอำเภออื่นของจังหวัดเชียงรายไปยังอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่นเพื่อจำหน่ายและแบ่งผลประโยชน์ซึ่งได้จากการสมคบกันกระทำการดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และบรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 2 สนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจัดหา หรือให้เงิน หรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำผิด ลำเลียง ซุกซ่อน ขนส่ง จัดส่ง ซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.1 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยมีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, 8, 14 เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดว่า หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 หรือช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในความผิดฐานดังกล่าว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับนายจิตรไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share