แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่มาตรา 244/1 ดังกล่าวบัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 9 บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย จำเลยนำสืบว่า โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่พนักงานบริษัท ท. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจำเลยทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกู้ แต่จำเลยต้องมอบเช็คไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับลูกหนี้แต่ละรายชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ หากเป็นความจริงดังข้อต่อสู้ของจำเลย การออกเช็คเพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกกับการที่จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับโจทก์จึงจะมาคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับมูลหนี้ หากโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยเก็บจากลูกหนี้ โจทก์ก็จะได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้แล้ว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น จะอ้างว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ เมื่อเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการชำระเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้าง จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 792,462.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 750,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท 4 ฉบับ เป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลขที่ 0185855, 0185857 และ 0185858 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จำนวนเงิน 100,000 บาท 300,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ และเช็คเลขที่ 0185856 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จำนวนเงิน 250,000 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินฉบับที่ 1 วันที่ 10 กันยายน 2555 ฉบับที่ 2 ถึงที่ 4 วันที่ 15 สิงหาคม 2555
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า ฎีกาของโจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่มาตรา 244/1 ดังกล่าวบัญญัติเพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 9 บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และมาตรา 2 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244/1 คำแก้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย จำเลยนำสืบว่า โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่พนักงานบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจำเลยทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกู้ แต่จำเลยต้องมอบเช็คไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์ เช็คพิพาทเลขที่ 0185855, 0185857 และ 0185858 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จำนวนเงิน 100,000 บาท 300,000 บาท และ 100,000 บาท เป็นกรณีโจทก์ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ชื่อนางศศิเณรีหรือโอ๋ ลูกหนี้ชื่อเพียงใจ ลูกหนี้ชื่อเหมียว ตามลำดับ และเช็คพิพาทเลขที่ 0185856 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จำนวน 250,000 บาท เป็นกรณีโจทก์ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ชื่อเพียงใจ ลูกหนี้ดังกล่าวแต่ละรายชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ หากเป็นความจริงดังข้อต่อสู้ของจำเลย การออกเช็คเพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกกับการที่จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับโจทก์จึงจะมาคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับมูลหนี้ดังกล่าว หากโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยเก็บจากลูกหนี้ โจทก์ก็จะได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ดังกล่าว ดังนั้นเมื่อจำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้แล้ว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น จะอ้างว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ที่จำเลยเบิกความอ้างว่าการชำระต้นเงินชำระผ่านธนาคาร ส่วนดอกเบี้ยชำระด้วยเงินสดนั้น แม้ตามเอกสารเป็นหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ แต่โจทก์เบิกความยืนยันว่ารายการชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์เป็นเงินผลประโยชน์ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเอกสารสอดคล้องว่าคือรายการดอกเบี้ย โดยในเดือนพฤษภาคม 2554 ยังมีรายการชำระดอกเบี้ยรายลูกหนี้ชื่อนางศศิเณรีหรือโอ๋ สำหรับหนี้ตามเช็คลงวันที่ 25 ลูกหนี้ชื่อเพียงใจ สำหรับหนี้ตามเช็คลงวันที่ 25 ลูกหนี้ชื่อเหมียว สำหรับหนี้ตามเช็คลงวันที่ 25 และลูกหนี้ชื่อเพียงใจ สำหรับหนี้ตามเช็คลงวันที่ 31 ดังนั้น รายการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ก่อนเดือนพฤษภาคม 2554 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการชำระต้นเงินตามเช็คพิพาทคดีนี้ ส่วนรายการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 จำนวน 76,500 บาท นั้น จำนวนดังกล่าวไม่ตรงกับต้นเงินของลูกหนี้รายใดเลย และปรากฏว่าเอกสารซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำหรับเดือนเมษายน 2554 ระบุจำนวนดังกล่าวไว้ด้วยดินสอ ส่วนรายการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 จำนวน 86,000 บาท และวันที่ 6 มิถุนายน 2554 จำนวน 96,500 บาท แต่ละจำนวนหรือรวมทั้งสองจำนวนไม่ตรงกับต้นเงินของลูกหนี้รายใด และปรากฏว่าเอกสารซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำหรับเดือนพฤษภาคม 2554 ระบุจำนวนดังกล่าวไว้ด้วยดินสอ ยิ่งกว่านั้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวรวม 182,500 บาท กลับสอดคล้องกับจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดสำหรับเดือนพฤษภาคม 2554 จึงเจือสมกับที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินผลประโยชน์ ฟังไม่ได้ว่าเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์ดังกล่าวเป็นการชำระต้นเงินตามที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 จำนวน 100,000 บาท นั้น เมื่อยังไม่มีการชำระต้นเงิน จำเลยยังคงต้องเก็บเงินดอกเบี้ยมาส่งแก่โจทก์ จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการชำระเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้าง จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ฎีกาเหตุผลอื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2555 และของต้นเงิน 650,000 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤษภาคม 2556) ต้องไม่เกิน 42,462.32 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ