แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ และใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น
ตามฟ้องไม่ได้บรรยายโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์อันเป็นวัตถุมีรูปร่างอันใด ทั้งไม่ได้ระบุหรืออ้างถึงองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้อีกข้อหนึ่งที่ระบุว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสำคัญ และเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 151
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 90, 91, 151, 157, 161 และ 162
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ ระหว่างนัดตรวจพยานหลักฐานจำเลยทั้งห้ายอมรับข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 กันยายน 2557 แต่ต่อสู้ว่าไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 (4) จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 (4) ประกอบมาตรา 86 และ 83 (ที่ถูกประกอบมาตรา 86) การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 9,000 บาท รวม 10 กระทง จำคุก 60 เดือน และปรับ 90,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำการปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ละคนกระทงละ 4 เดือน และปรับแต่ละคนกระทงละ 6,000 บาท รวม 10 กระทง จำคุกคนละ 40 เดือน และปรับคนละ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยทั้งห้ามีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยทั้งห้าไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้จำเลยทั้งห้ากระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งห้าเห็นสมควรมีกำหนดคนละ 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวและการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.10 และ มาตรา 162 (4) ตามฟ้องข้อ 2.4 ถึงข้อ 2.10 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 162 (4) ประกอบมาตรา 86 ตามฟ้องข้อ 2.4 ถึงข้อ 2.10 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 10 กระทง เป็นจำคุกคนละ 30 ปี 40 เดือน ทางพิจารณาจำเลยทั้งห้ายอมรับข้อเท็จจริงตามสำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 10 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี 40 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทงละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน รวม 10 กระทง เป็นจำคุกคนละ 20 ปี 20 เดือน 200 วัน ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติ ให้ยกฟ้องโจทก์ ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ และข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ และข้อหาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 4 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 4 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานสังกัดกรมชลประทาน ขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งนายช่างชลประทาน 6 ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย มีหน้าที่ควบคุม ดูแล ตรวจสอบพื้นที่ชลประทานในพื้นที่รับผิดชอบ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการส่งน้ำและอาคารชลประทานตลอดจนการปรับปรุงงานต่าง ๆ รวมทั้งมีหน้าที่จัดการในการจัดหาลูกจ้างชั่วคราวเพื่อขุดลอกซ่อมแซมคลองส่งน้ำและปรับปรุงตกแต่งบริเวณหัวงานให้แก่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 ในโครงการที่จะต้องดำเนินการเองตามแผนงานประมาณการประจำปีงบประมาณ 2546 และมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำเอกสารเบิกเงินจากต้นสังกัดให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวรายวันทุกเดือนตลอดระยะเวลาการจ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยที่ 2 ตำแหน่งช่างฝีมือสนามชั้น 3 มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านพัสดุ จำเลยที่ 3 ตำแหน่งผู้รักษาอาคารชลประทาน มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านช่างกล ไฟฟ้า ประปา ควบคุมการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราว จำเลยที่ 4 ตำแหน่งคนงาน มีหน้าที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาคลองส่งน้ำ ทำความสะอาดอาคารชลประทาน และจำเลยที่ 5 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการประจำ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านธุรการทั่วไป จัดทำใบสำคัญเบิกจ่ายเกี่ยวกับลูกจ้างชั่วคราวและดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ในปีงบประมาณ 2546 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย สำนักงานชลประทานที่ 7 อนุมัติโครงการให้ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 จัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพื่อขุดลอกซ่อมแซมคลองส่งน้ำและตกแต่งบริเวณหัวงานของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 รวม 10 คำสั่ง ตามคำสั่งกรมชลประทานในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันรวบรวมจัดหาสำเนาบัตรประจำตัวประชนชนของชาวบ้านหลายคนตามฟ้องมาใช้ประกอบในการทำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราว แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อปลอมของเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนในใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวว่าเป็นผู้สมัครลูกจ้างชั่วคราว แล้วจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวรับรองว่าผู้สมัครเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายเหมาะสมกับงาน จากนั้นจำเลยที่ 1 นำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวที่มีการปลอมลายมือชื่อและรับรองเอกสารอันเป็นเท็จในแต่ละครั้งพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวมารวมกับใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวจริงของแต่ละคำสั่งเสนอนายประจักษ์ หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อยอนุมัติและมีคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราว โดยแต่ละคำสั่งจ้างมีระยะเวลาเริ่มต้นทำงานแตกต่างกันไป แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รวมถึงนายจันลา ซึ่งได้รับมอบหมายให้ควบคุมการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราว ในแต่ละคำสั่ง ปลอมลายมือชื่อของลูกจ้างชั่วคราวตามฟ้องลงในใบแสดงเวลาทำงานของลูกจ้างชั่วคราวทุกวันจนครบกำหนดระยะเวลาทำงานตามคำสั่ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 รวบรวมเอกสารหลักฐานเสนอให้จำเลยที่ 1 รับรองว่าลูกจ้างชั่วคราวตามฟ้องมาปฏิบัติงานตามวันเวลาดังกล่าวในใบแสดงเวลาทำการ ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มาปฏิบัติงานจริง จากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการขออนุมัติการจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างชั่วคราว จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างชั่วคราวโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีรายชื่อตามฟ้องที่เปิดไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาโขงเจียม ทุกเดือนจนครบกำหนดระยะเวลาทำงานตามคำสั่ง จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันนำบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ของลูกจ้างชั่วคราวที่จำเลยที่ 1 เก็บและยึดถือไว้ไปเบิกถอนเงินค่าจ้างของลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีการจ้างจริง 30 คน เป็นเงิน 838,844.50 บาท คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ และลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานดังกล่าวจำเลยทั้งห้ามิได้อุทธรณ์ สำหรับความผิดตามฟ้องโจทก์ ข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ส่วนของจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) และส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติแล้วในชั้นนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐตามฟ้อง และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ประกอบมาตรา 86 ในฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดเพราะจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งจัดทำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวปลอมโดยเจตนาทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายและไม่มีเจตนาทุจริต เห็นว่า การกระทำจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ และใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้นโดยมิได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น ซึ่งคำว่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง แต่ตามฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์อันเป็นวัตถุมีรูปร่างอันใด ข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำเอกสารแบบขออนุมัติจ้างลูกจ้างชั่วคราว แล้วร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อของเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนปลอมในใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวบางส่วน และได้ทำการรับรองโดยเขียนและลงลายมือชื่อในเอกสารใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวที่มีลายมือชื่อปลอมของเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนนั้น ว่าผู้สมัครมีสุขภาพร่างกายเหมาะสมกับงานที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติ จึงรับไว้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการรับรองการปฏิบัติงานในตอนต่อมา ตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.10 นั้น ก็เป็นการเจาะจงว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารมุ่งจะพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และมาตรา 162 (4) ซึ่งยุติไปแล้ว นอกจากนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 นั้น ยังมีองค์ประกอบของความผิดอยู่ข้อหนึ่งระบุว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ระบุหรืออ้างถึงองค์ประกอบของความผิดข้อนี้ไว้ คำฟ้องจึงไม่ชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์จะเอาผิดและให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ได้เอาอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้นไปใช้หรือไม่ และในลักษณะใดแน่ ซึ่งความผิดข้อหานี้ตามฟ้องเป็นบทที่มีอัตราโทษสูงสุด ควรที่โจทก์ต้องกล่าวให้ชัดเจน กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสำคัญ และถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดังกล่าวไม่ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยทุจริตหรือไม่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนนี้ฟังขึ้น ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 213
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับจำเลยที่ 5 จัดหาสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาใช้ประกอบในการทำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวบางส่วน และร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนปลอมในใบสมัครลูกจ้างชั่วคราว เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงที่เจ้าของบัตรได้สมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราว จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รับรองเอกสารใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวว่าผู้สมัครมีสุขภาพร่างกายเหมาะสมกับงานที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติจึงรับไว้ปฏิบัติงาน แล้วจำเลยที่ 1 นำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวปลอมดังกล่าวมารวมกับใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้สมัครลูกจ้างชั่วคราวที่มาสมัครจริง เสนอหัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อยเพื่ออนุมัติและมีคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามบัญชี โดยระหว่างการทำงานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และนายจันลา ซึ่งได้รับมอบหมายให้ควบคุมการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราวในแต่ละคำสั่ง ได้ปลอมลายมือชื่อของลูกจ้างชั่วคราวตามใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวปลอมนั้นทุกวันจนครบตามคำสั่ง จากนั้นจำเลยที่ 5 รวบรวมเอกสารหลักฐานเสนอจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ทำการรับรองว่าลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวได้มาทำงานตามใบแสดงเวลาทำงาน ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าลูกจ้างชั่วคราวกล่าวนั้นไม่ได้มาปฏิบัติงานจริง และได้ขออนุมัติจ่ายเงิน เมื่อเจ้าหน้าที่หลงเชื่อจ่ายเงินให้แล้ว จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันใช้บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ของลูกจ้างชั่วคราวตามใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวปลอมที่จำเลยที่ 1 เก็บไว้ถอนเงินค่าจ้างจากบัญชีไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย มีหน้าที่จัดหาลูกจ้างชั่วคราว ได้นำชื่อและบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลผู้มีชื่อบางส่วนมาทำใบสมัครลูกจ้างชั่วคราวปลอม แล้วดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อมาเป็นการสวมรอยรับเงินค่าจ้างไปดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการของทางราชการโดยชัดเจน ซึ่งปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบอย่างไร จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวไป จำเลยที่ 1 รับราชการมานาน ย่อมทราบแล้วว่าการกระทำเป็นการละเมิดย่ำยีต่อกฎระเบียบของทางราชการบ้านเมือง อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ เกิดความเสียหายแก่ทางราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมา ยังกระทำไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเมื่อปรากฏว่าการกระทำทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่จำเลยที่ 1 สวมรอยรับไปโดยไม่มีการจ้างจริง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดังกล่าว ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดผลงานมากมาย ไม่ได้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด และจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายและไม่มีเจตนาทุจริตที่จะแสวงหาประโยชน์อื่นใดนอกจากเพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในฤดูทำนานั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็อ้างเอามาแต่ข้อที่เป็นประโยชน์แก่ตนและยังขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าไม่มีเจตนาพิเศษดังกล่าว ด้วยเหตุดังวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นควรปรับบทความผิดและกำหนดโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสม โดยให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน
นอกจากนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 157 และให้ใช้อัตราโทษใหม่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้า จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เสียด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 10 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 40 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คงจำคุกกระทงละ 10 เดือน 20 วัน รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 74 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3