แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลย ทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ และมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมี อำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขอให้สั่งริบเฮโรอีนของกลาง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66 วรรคหนึ่ง, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ของกลาง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์มีสิบตำรวจเอกประพันธ์ จ่าสิบตำรวจสมหมายและสิบตำรวจเอกผลเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 แต่พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความแตกต่างกลับไปกลับมาและขัดแย้งกันตลอด เริ่มตั้งแต่สิบตำรวจเอกประพันธ์เบิกความตอบโจทก์ว่า ขณะที่พยานอยู่ที่ป้อมตำรวจมลายู-บางกอกได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษกันที่บ้านพงยาวี จึงวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตร 50 บาท ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นได้มอบธนบัตรให้สายลับไปล่อซื้อ ส่วนพยานกับพวกรวม5 คน ออกไปซุ่มดูห่างประมาณ 30 เมตร ก่อนหน้าที่สายลับจะไปก็เห็นจำเลยทั้งสองเดินเตร่ไปเตร่มาอยู่ริมถนน มีรถจักรยานยนต์ 1 คัน ใกล้ ๆ ตัว สักครู่สายลับขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดตรงที่จำเลยทั้งสองอยู่ แล้วเข้าไปคุยแล้วสายลับส่งเงินให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ส่งห่อเล็ก ๆ ให้แก่สายลับแล้วจำเลยที่ 2 ก็ส่งเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ครั้นตอบจำเลยถามค้าน สิบตำรวจเอกประพันธ์กลับเบิกความว่า ได้เอาเงินส่วนตัวให้สายลับไป แล้วจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ หาใช่นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงบันทึกประจำวันก่อนมอบแก่สายลับไม่ แต่แล้วสิบตำรวจเอกประพันธ์ก็เบิกความตอนต่อมาว่า ภายหลังกลับจากสถานีตำรวจซึ่งใช้เวลาไม่เกิน20 นาที แล้วจึงเอาเงินให้สายลับที่ป้อมตำรวจ คำของสิบตำรวจเอกประพันธ์ที่เบิกความกลับไปกลับมาเช่นนี้ก็ยังแตกต่างกับจ่าสิบตำรวจสมหมายซึ่งเป็นหัวหน้าป้อมมลายู-บางกอกที่ว่า หลังจากรับแจ้งจากสายลับ สิบตำรวจเอกประพันธ์ได้ให้เงินแก่สายลับไปในขณะนั้นเลยหาใช่นำธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อไปลงบันทึกประจำวันก่อนไม่ เมื่อสายลับออกไปประมาณ 10 นาที พยานกับพวกจึงตามไปด้วยรถจักรยานยนต์ 3 คัน ดักซุ่มที่ทุ่งนาโคนต้นไม้ข้างถนน ส่วนรถจักรยานยนต์นำไปฝากบ้านคนไว้ ซุ่มอยู่ประมาณ 20 นาที จำเลยทั้งสองจึงมาถึง หาใช่ก่อนหน้าที่สายลับจะไป ก็เห็นจำเลยทั้งสองเดินแตร่ไปเตร่มาอยู่ริมถนน ดังที่สิบตำรวจเอกประพันธ์เบิกความไม่ ส่วนสิบตำรวจเอกผลกลับเบิกความว่า มีสายลับแจ้งก็เพราะสิบตำรวจเอกประพันธ์เล่าให้ฟัง ก่อนดักซุ่มนั้นวางแผนอะไรบ้างพยานไม่ทราบ ซุ่มกันที่ทุ่งนาริมถนนห่างถนนประมาณ 7 เมตร พอไปถึงก็เห็นรถจักรยานยนต์เก่า ๆจอดอยู่แล้ว และเห็นชาย 2 คน เดินอยู่แถวนั้นเห็นหน้าไม่ชัด ตอนเดินทางไปซุ่มนั้นไปตามถนนสายใหญ่ซึ่งจำเลยทั้งสองยืนอยู่ ไม่ได้สังเกตว่าของที่ยื่นให้สายลับนั้นเป็นอะไร เพราะเล็กและอยู่ไกล ไม่สามารถยืนยันได้ว่าของที่สายลับมอบให้แก่พยานนั้นเป็นของที่สายลับได้มาจากจำเลยทั้งสอง ดังนี้ เห็นได้ว่าประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความขัดแย้งกันเองในสาระสำคัญและขัดต่อเหตุผลหลายประการเช่น ความมีตัวตนของสายลับ การได้รับธนบัตรไปล่อซื้อของสายลับ จุดซุ่มดูซึ่งอยู่ริมถนนสาธารณะและมีการซื้อขายยาเสพติดให้โทษกันริมถนนสาธารณะห่างจากป้อมตำรวจที่สามารถมองเห็นได้แต่แรก การเดินทางไปยังจุดซุ่มดูซึ่งต้องผ่านจำเลยทั้งสองและระยะห่างที่ซุ่มดูซึ่งอ้างว่ามองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน รวมทั้งสิ่งของที่อ้างว่าเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งไม่แน่ว่าเป็นสิ่งของที่สายลับได้มาจากจำเลยเป็นต้นประกอบกับพิจารณาตามรายงานที่จ่าศาลไปเผชิญสืบจะเห็นว่า ทนายจำเลยที่ 2ให้คนไปยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ยืนต้นที่จ่าสิบตำรวจสมหมายและสิบตำรวจเอกประพันธ์นำชี้ในขณะไปเผชิญสืบนั้นสามารถมองเห็นคนที่ไปยืนได้ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ไม่น่าเชื่อว่าประจักษ์พยานโจทก์จะไปดักซุ่มอยู่ ทั้งจุดที่พยานโจทก์ชี้ว่าจำเลยยืนขายยาเสพติดให้โทษนั้น ก็อยู่ห่างจากพยานซุ่มอยู่ประมาณ 150 เมตร หาใช่ห่างกัน 30 เมตร ดังที่เบิกความไม่ ดังนี้พยานหลักฐานโจทก์ที่แตกต่างขัดแย้งกันและขัดต่อเหตุผลดังกล่าวย่อมรับฟังเป็นจริงไม่ได้ จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ และมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3