แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งหกร่วมกันนำเรื่องราวชีวิตจริงของโจทก์ที่ 1 มาแสดงละครจีนหรืองิ้ว โดยบิดเบือนให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาน้อยมีนิสัยไม่ดี ชอบอิจฉาริษยาและก่อเรื่องวุ่นวายขึ้นในครอบครัวจนเป็นเหตุให้สามีถูกบุตรสาวใช้ปืนยิงถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียชื่อเสียงอาจถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1
เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบพยานยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งถ้าจำเลยไม่นำสืบพยานให้เห็นเป็นอย่างอื่น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่โจทก์นำสืบ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 3ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1, 2, 4, 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยสืบมาฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2520 มีละครแบบจีนหรืองิ้วคณะเซ้งโก่วเตียวเกี้ยะท้วง แสดงที่โรงภาพยนตร์เฉลิมราษฎร์ เรื่อง “ขอลักล่งอั่ว” มีการโฆษณาที่หน้าโรงและโฆษณาด้วยใบปลิวเป็นภาษาจีนแปลเป็นไทยว่า คดีที่อนุวงศ์ เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าสลดใจครอบครัวหนึ่งและเป็นข่าวที่สะเทือนไปทั่วประเทศในปีนั้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า
1. จำเลยทั้งสี่ร่วมกับคณะงิ้วทำการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 หรือไม่
2. ค่าเสียหายที่ศาลล่างกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่
สำหรับข้อ 1 จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า เรื่องที่งิ้วแสดงไม่ตรงกับเรื่องราวชีวิตจริงของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ใช้ชื่อโจทก์ที่ 1 ในการแสดง โจทก์ที่ 1 ไม่เสียหายคณะงิ้วเป็นผู้ประพันธ์เรื่องเอง สามีของโจทก์ที่ 1 จะชื่อนายล้งแชจริงหรือไม่โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดง จำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ พิเคราะห์แล้วได้ความจากใบปลิวโฆษณาที่แปลเป็นภาษาไทย ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจำเลยมิได้คัดค้านว่าแปลไม่ถูกต้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของคณะงิ้วจำเลยที่ 2 เป็นประธานผู้กำกับเวที จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประพันธ์บทและทำนองเพลงทั้งเป็นผู้กำกับการแสดงด้วย จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงจำเลยที่ 5 เป็นฝ่ายโฆษณา จำเลยที่ 6 เป็นผู้แต่งทำนองเพลง จำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบปฏิเสธใบปลิวโฆษณานี้ จึงฟังว่าจำเลยทั้งสี่กับจำเลยที่ 3 ที่ 5ร่วมกันจัดให้มีการแสดงงิ้วขึ้น ข้อที่ว่าเรื่องที่แสดงไม่ตรงกับเรื่องชีวิตจริงของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ไม่เสียหายนั้น โจทก์ทั้งสามอ้างตัวเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายฮั้งหรือนายอาเตี้ยง แซ่เจี่ย อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีมีร้านค้าชื่อเจี่ยเตี๋ยงกี่ ค้าขายเครื่องจักรสาน นายล้งแช แซ่โง้ย เจ้าของร้านไทเฮงล้ง ถนนอนุวงศ์ กรุงเทพมหานคร ได้สู่ขอโจทก์ที่ 1 เป็นภรรยา และพาโจทก์ที่ 1 ไปอยู่ที่ร้านไทเฮงล้งอยู่ได้ 12 วัน นางเอี้ยมเกียงบุตรนายล้งแชพูดต่อว่านายล้งแชที่ได้โจทก์ที่ 1 มาเป็นภรรยา ต่อมามีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ปรากฏว่านางเอี้ยมเกียงยิงนายล้งแชถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบว่าไม่เคยรู้จักโจทก์ ไม่เคยรู้เรื่องราวของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ชีวิตจริงของโจทก์ที่ 1เป็นมาอย่างไรหาได้นำสืบไม่ จึงรับฟังว่าโจทก์ที่ 1 มีประวัติชีวิตตามที่โจทก์นำสืบ เรื่องที่งิ้วแสดงก็มีร้านเจี่ยเตี๋ยงกี่ของบิดาโจทก์ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งค้าขายเครื่องจักรสานและมีร้านไทเฮงล้งของนายล้งแชที่ถนนอนุวงศ์ กรุงเทพมหานครด้วย ตัวบุคคลที่แสดงส่วนมากใช้ชื่อตามเรื่องจริงเช่นนายอาเตี้ยง แซ่เจี่ย บิดาโจทก์ นายล้งแช แซ่โง้ย สามีโจทก์ที่ 1 นางกุ้ยฮวย แซ่ลิ้ม นางเอี้ยมเกียง แซ่โง้ย ภรรยาและบุตรนายล้งแช สถานที่เกิดยิงกันเป็นร้านไทเฮงล้งของนายล้งแช ถนนอนุวงศ์ กรุงเทพมหานคร แม้งิ้วจะใช้ชื่อชิวลั้งแทนชื่อโจทก์ที่ 1 ผู้ที่เคยรู้เรื่องจริงมาก่อนก็ทราบได้ว่าชิวลั้งคือโจทก์ที่ 1 จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสี่และจำเลยที่ 3 ที่ 5 ร่วมกันนำเรื่องราวชีวิตจริงของโจทก์ที่ 1มาแสดงละครจีนหรืองิ้วโดยบิดเบือนให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาน้อยมีนิสัยไม่ดี ชอบอิจฉาริษยาและก่อเรื่องวุ่นวายขึ้นในครอบครัวจนเป็นเหตุให้สามีถูกบุตรสาวยิงถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียชื่อเสียง อาจถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ ซึ่งปรากฏว่านายผดุง จงคงคา ผู้เคยเป็นลูกจ้างสามีโจทก์ที่ 1มาก่อน ได้ไปดูงิ้วเรื่องนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2520 ครั้นพบสามีโจทก์ที่ 1ในเวลาต่อมาได้ถามว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคนใจร้ายจริงหรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสี่กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 จึงเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1″
พิพากษายืน