แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรที่จะมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูและการให้การศึกษาจากบิดามารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคแรกจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะขณะอยู่กินกับจำเลยได้ให้การรับรองบุตรทั้งสาม ต่อมาจำเลยได้ขอหย่าขาดกับโจทก์และมอบบุตรทั้งสามให้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพียง 2 คนจำนวนเงิน 349,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นบิดาตามความเป็นจริง มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยนั้น เห็นว่า บุตรที่จะมีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูและการให้การศึกษาจากบิดามารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคแรก จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดามาแต่แรกหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547และหากเป็นบุตรนอกสมรสโดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและมิได้ฟ้องคดีขอให้บิดารับเด็กเป็นบุตรมาด้วยแล้ว จะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาจากบิดาไม่ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยรับเด็กเป็นบุตรมาด้วยดังนั้น ในชั้นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาจากจำเลย
พิพากษายืน