แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างกำหนดว่า โจทก์ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทุกรายการในงวดที่ 3 จึงจะมีสิทธิรับค่าจ้าง แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แม้ตามปกติโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้คืนค่าผลงานที่โจทก์ได้ทำการก่อสร้างระบบประปาให้จำเลยแล้วบางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามสัญญา ข้อ 22ระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างนั้น โดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าวผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆไม่ได้เลยข้อตกลงนี้มีลักษณะ เป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นอันมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 900,000 บาทเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้นำหนี้ที่โจทก์ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำนวน 163,200 บาท และจำเลยจะต้องชำระค่าการงานมาหักกลบลบหนี้กัน คงเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 736,800 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,924,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาท่อซีเมนต์ใยหินมิได้ขาดแคลนดังอ้าง จำเลยจึงไม่ต่ออายุสัญญาให้ โจทก์ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 3 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทุกรายการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและมิได้ส่งมอบงานงวดที่ 3โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 3 ส่วนแพเหล็กนั้นเป็นรายการก่อสร้างที่อยู่ในงานงวดที่ 4 หาใช่จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใดไม่ จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เพราะความผิดของโจทก์เองที่ก่อสร้างล่าช้ามาก เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยชอบ จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงินประกันและเรียกค่าปรับในกรณีส่งมอบงานล่าช้าในอัตราวันละ 3,400 บาท เป็นระยะเวลา 51 วัน จำเลยหักเงินค่าปรับจากเงินค่าจ้างในงานงวดที่ 1 ไปแล้ว 3 วัน ค่าปรับรายวันที่ค้างอยู่อีก 48 วัน โจทก์จึงต้องชำระเบี้ยปรับแก่จำเลยเป็นเงิน 163,200 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้ชำระเงินค่าปรับแก่จำเลยจำนวน 163,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ให้จำเลยใช้เงินค่าสินจ้างแก่โจทก์จำนวน 1,584,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 17 สิงหาคม2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน163,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างระบบประปาสุขาภิบาลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ราคา6,800,000 บาท โดยโจทก์ผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาและจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเองตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.6 โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างและรับเงินค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 1 ไปแล้ว คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.6 หรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเนื่องจากท่อซีเมนต์ใยหินขาดตลาด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย เห็นว่างานวางท่อซีเมนต์ใยหินเพื่อจ่ายน้ำประปาดังกล่าวเป็นงานงวดที่ 2ซึ่งสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.6 กำหนดให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 เมษายน 2535 โดยโจทก์มีหน้าที่จักต้องหาสัมภาระดังกล่าวมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา แต่ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งจะมาอ้างว่าท่อซีเมนต์ใยหินขาดแคลนและขอต่ออายุสัญญาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นกำหนดวันส่งงานงวดสุดท้าย ทั้งนายนิพนธ์ ชั่งทองคำ หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ก็เบิกความว่า งานงวดที่ 2 ได้ให้ผู้รับเหมาช่วงดำเนินการแทน การชี้แจงตามหนังสือเอกสารหมาย จ.8 ของนายเชื้อชาย พยานโจทก์ก็เป็นการชี้แจงหลังจากครบกำหนดสัญญาจ้างแล้วไม่ใช่เป็นการชี้แจงในระหว่างที่โจทก์ทำงานก่อสร้างอยู่แต่ประการใด ทั้งนายเชื้อชายยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ได้ย้ายโรงงานเมื่อเดือนธันวาคม 2534 และสามารถผลิตท่อซีเมนต์ใยหินได้เมื่อเดือนมกราคม 2535 ก่อนการย้ายโรงงานได้มีการเก็บสต๊อกท่อซีเมนต์ใยหินไว้แล้ว ดังนั้นการที่โจทก์เพิ่งจะมาอ้างภายหลังว่าไม่สามารถซื้อท่อซีเมนต์ใยหินดังกล่าวได้จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยประกอบกับโจทก์มิได้ทำงานก่อสร้างในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญาจ้าง คงก่อสร้างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลยจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินค่าจ้างงวดที่ 3 จากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.6 กำหนดว่า โจทก์ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทุกรายการในงวดที่ 3 จึงจะมีสิทธิรับค่าจ้าง แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แม้ตามปกติโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้คืนค่าผลงานที่โจทก์ได้ทำการก่อสร้างระบบประปาให้จำเลยแล้วบางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 22ระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว บรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างนั้น โดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าวผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆไม่ได้เลย ข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นอันมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง โจทก์นำสืบว่า งานที่โจทก์ทำแล้วเสร็จมีมูลค่าพอดีกับเงินค่าจ้างงวดที่ 3 เป็นเงิน 1,584,400 บาท จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องรับฟังว่าค่าการงานที่โจทก์ทำแล้วเสร็จมีมูลค่าเป็นเงิน 1,584,400 บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติมาแล้วเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้คืนค่าผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วเป็นเงิน 900,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันและเรียกค่าปรับหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากก่อสร้างล่าช้า เห็นได้ว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยแล้วจำเลยจึงมีสิทธิริบเงินประกันได้โดยชอบ ส่วนค่าปรับรายวันที่ค้างอยู่อีก 48 วัน เป็นเงิน 163,200 บาท ตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาขอให้ยกฟ้องแย้งว่าจำเลยมิได้เสียหาย แต่กลับได้ประโยชน์จากค่าของงานและวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ลงทุนลงแรงไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับโจทก์นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 900,000 บาท เพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้นำหนี้ที่โจทก์ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำนวน 163,200 บาท และจำเลยจะต้องชำระค่าการงานมาหักกลบลบหนี้กัน คงเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 736,800 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 736,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (17 สิงหาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์