คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7212/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคท้าย คดีนี้ไม่มีการวางเงินค่าทดแทน ดังนั้นวันที่เริ่มต้นคิดดอกเบี้ยคือวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทน ซึ่งมาตรา11 วรรคแรก บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2531 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2531คือภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย จำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2531 โจทก์ฎีกาว่าคณะกรรมการปรองดองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยขาดความรอบคอบและไม่เป็นธรรมโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง และที่ถูกต้องทั้งตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษ สายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทอง ตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษ ปรากฏว่าบริเวณที่ดินซึ่งกำหนดไว้ในแผนที่ทางหลวงพิเศษผ่านเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 67 ตารางวาจำเลยได้กำหนดราคาทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 36,900 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขอให้กำหนดราคาค่าทดแทนตามราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ในราคาตารางวาละ 7,000 บาท คณะกรรมการอุทธรณ์ได้กำหนดราคาที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 1,200 บาท แต่โจทก์เห็นว่าเป็นราคาต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงมาก ขอให้บังคับจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามความเป็นธรรมและเป็นจริงในราคาตารางวาละ 7,000 บาทที่ดินของโจทก์ 67 ตารางวา คิดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 469,000 บาทเมื่อนำค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นเงิน 80,400 บาท มาหักออกแล้วยังขาดค่าทดแทนที่โจทก์ควรได้รับอีกจำนวน 388,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2523ซึ่งเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จนถึงวันฟ้องรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 638,761.25 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน388,600 บาทในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 17.88 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 93,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 7379แขวงบางแค เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 100 ตารางวาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน-บางบัวทองตอนพระประแดง-บางแค-ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2523 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 3 กรกฎาคม2523 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 67 ตารางวาต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2530 จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โดยได้ทำสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 8 มีนาคม 2531 และจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 36,900 บาท โจทก์ได้มีหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 1,200 บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินจำนวน 93,800 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม2531 ซึ่งเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนมิใช่วันที่ 2 กรกฎาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯใช้บังคับนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคแรกบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย คดีนี้ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 8มีนาคม 2531 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2531 ซึ่งก็คือภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2531 ดังนั้นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย ก็คือวันที่ 6 กรกฎาคม 2531จำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2531 หาใช่วันที่ 2 กรกฎาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้กำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นฎีกาของโจทก์กล่าวโดยสรุปได้ว่าคณะกรรมการปรองดองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยขาดความรอบคอบและไม่เป็นธรรม โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไรบ้างและที่ถูกต้องทั้งตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่6 กรกฎาคม 2531 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับฎีกาของโจทก์ให้ยก

Share