คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285-3289/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่า ในกรณีที่มีการร้องทุกข์เพราะออกงานถ้าผู้ร้องทุกข์ได้รับการพิจารณากลับเข้าทำงานตามเดิม ผู้ได้กลับเข้าทำงานตามเดิมนั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ถูกออกจากงานโจทก์ซึ่งเดิมถูกไล่ออกจากงานแต่ภายหลังคณะกรรมการจำเลยมีมติเปลี่ยนแปลงระดับโทษจากไล่ออกเป็นให้กลับเข้าทำงานแต่ให้ตัดเงินเดือน ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างที่ถูกไล่ออก และโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้นับอายุการทำงานในระหว่างถูกไล่ออก เพราะโจทก์มิได้ทำงานและมิได้มีฐานะเป็นลูกจ้างในระหว่างนั้นประกอบกับคณะกรรมการจำเลยซึ่งมีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการรถไฟตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ได้มีมติว่าสำหรับการนับเวลาทำการก็ให้ตัดเวลาที่ถูกไล่ออกจากงานไป การที่จำเลยออกคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์โดยไม่จ่ายเงินเดือนและให้ตัดเวลาการทำงานในระหว่างที่ไล่ออกจึงเป็นคำสั่งที่ชอบและไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 5 สำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์สำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 4 ถูกจำเลยสั่งพักงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2521และถูกไล่ออกจากงานเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2521 โจทก์สำนวนที่ 5 ถูกจำเลยสั่งพักงานเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2521 และถูกไล่ออกจากงานเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2521 ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งโจทก์ทั้ง 5 มิได้มีความผิด คำสั่งจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2522 วันที่ 30 กันยายน 2522 จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ไล่โจทก์สำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 4 และสำนวนที่ 5 ออกจากงานตามลำดับ ให้โจทก์ทั้ง 5 กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมตามมติของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยผลของคำสั่งพักงานและไล่ออกจากงานดังกล่าวของจำเลย โจทก์ไม่มีความผิด โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามขั้นตอนการเลื่อนขั้น การปรับปรุงอัตราเงินเดือนตลอดจนการพิจารณาบำเหน็จประจำปี ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำเลยในส่วนที่ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์โดยมีคำสั่งใหม่ว่า โจทก์มิได้มีความผิดตามข้อกล่าวหาและให้โจทก์ได้รับอัตราเงินเดือนในปัจจุบันให้จำเลยนับอายุการทำงานของโจทก์ติดต่อกันและให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์ที่หนึ่ง 75,707.50 บาท โจทก์ที่สอง 44,845.31 บาทโจทก์ที่สาม 43,779.31 บาท โจทก์ที่สี่ 63,372 บาท โจทก์ที่ห้า 64,130.79 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยทั้ง 5 สำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้ง 5 คน ถูกจำเลยลงโทษทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการทอนเงินผู้โดยสารขาด ต่อมาโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วมีมติเปลี่ยนระดับโทษจากไล่ออกเป็นตัดเงินเดือนและให้โจทก์ทั้ง 5 คนกลับเข้าทำงานตามเดิมจำเลยได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของข้อบังคับ ระเบียบการปฏิบัติ เป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว เงินเดือนระหว่างระยะเวลาที่โจทก์ทั้ง 5 คนถูกไล่ออกจนถึงมีคำสั่งให้กลับเข้าทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับของจำเลย ส่วนการปูนบำเหน็จจำเลยไม่พิจารณาให้เพราะโจทก์ถูกลงโทษทางวินัย จำเลยให้โจทก์ทั้ง 5 คนกลับเข้าทำงานโดยได้รับอัตราเงินเดือนเดิมก่อนที่ถูกไล่ออก หลังจากโจทก์ทั้ง 5 คนกลับเข้าทำงานแล้ว จำเลยก็ปรับอัตราเงินเดือนให้ตามข้อบังคับของจำเลยแล้วจำนวนเงินตามคำขอท้ายฟ้องจำเลยไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ทั้ง 5สำนวนเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายโจทก์กล่าวอ้างแต่เพียงว่าไม่มีความผิดเท่านั้น มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ผิดขั้นตอนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่อย่างใด เมื่อคำสั่งลงโทษโจทก์ชอบแล้ว กรณีไมจำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำความผิดอีกหรือไม่ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 5 สำนวน

โจทก์ทั้ง 5 สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานโดยอาศัยระเบียบข้อบังคับ เมื่อยกเลิกคำสั่งไล่ออกเท่ากับโทษไล่ออกไม่มี สภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ยังมีอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างและได้รับการปรับเงินเดือนตามข้อตกลงสภาพการจ้าง และในเรื่องอายุเวลาการทำงานระหว่างถูกไล่ออก จำเลยก็ต้องนับต่อเนื่องให้โจทก์นั้นเห็นว่าคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้มีมติว่าโจทก์ทั้ง 5 คน ไม่มีความผิดแต่มีมติให้เปลี่ยนแปลงระดับโทษเป็นโทษตัดเงินเดือน โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับไปพิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเดิมนับตั้งแต่วันที่กลับเข้าทำงานใหม่เป็นต้นไปโดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกไล่ออก สำหรับการนับเวลาทำการก็ให้ตัดเวลาที่ถูกไล่ออกจากงานไป ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการฯ มิได้มีมติว่าโจทก์ทั้ง 5 คนไม่มีความผิด โจทก์ทั้ง 5 คนจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างถูกไล่ออกตามข้อบังคับฉบับที่ 6 ว่าด้วยระเบียบการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 13 ที่เพิ่มเติมโดยข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 73 ข้อ 1 ซึ่งระบุว่า “ข้อ 13 ในกรณีที่มีการร้องทุกข์เพราะถูกออกจากงาน ถ้าผู้ร้องทุกข์ได้รับการพิจารณาให้กลับเข้าทำงานตามเดิมผู้ได้กลับเข้าทำงานตามเดิมนั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างถูกออกจากงาน”ส่วนการนับอายุการทำงานระหว่างที่ถูกไล่ออกโจทก์ไม่มีสิทธิเพราะมิได้ทำงานและมิได้มีฐานะลูกจ้าง ทั้งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการรถไฟตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ก็ได้มีมติว่าสำหรับการนับเวลาการทำงานก็ให้ตัดเวลาที่ถูกไล่ออกจากงานไป ดังนั้น การที่จำเลยออกคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์โดยไม่จ่ายเงินเดือน และให้ตัดเวลาการทำงานในระหว่างที่ไล่ออก จึงเป็นคำสั่งที่ชอบและไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share