แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างสะพานกับผู้คัดค้าน ในการก่อสร้างผู้ร้องอ้างว่าการที่วิศวกรที่ปรึกษาของผู้คัดค้านสั่งเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในสัญญาทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผู้ว่าการของผู้คัดค้านชี้ขาดว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ร้องขอให้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง แต่อนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ เมื่อตามสัญญาตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการระบุไว้ในข้อ67 วรรคสองว่า “…นอกเสียจากว่าทั้งสองฝ่าย จะเห็นชอบกับการแต่งตั้งอนุญา-โตตุลาการคนเดียว ข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทจะต้องนำเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ 2 คนซึ่งแต่ละฝ่ายจะได้แต่งตั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว และอนุญาโตตุลาการที่ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งจะเลือกผู้ชี้ขาด หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนได้ภายใน 30 วัน หรือหากอนุญาโตตุลาการทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ตนได้รับแต่งตั้งตกลงเลือกผู้ชี้ขาด ให้นำข้อ 71.2 มาใช้บังคับ…” และข้อ 71.2 มีความว่า”…ศาลไทยจะมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการรับฟังและตัดสินการดำเนินและกระบวน-พิจารณา (นอกเหนือไปจากการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 67) ที่เกิดขึ้นจากสัญญาและผู้รับเหมายอมรับเขตอำนาจของศาลไทย…” ดังนี้ เมื่ออนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดได้ภายใน 30 วัน ดังกล่าว ก็ต้องปฏิบัติตามข้อ 67 ที่ให้นำข้อ 71.2 มาใช้บังคับ กล่าวคือต้องนำข้อพิพาทมาสู่ศาลเท่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 13, 14 และ 15 อีกหาได้ไม่เพราะขัดกับข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว