แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินค่าทดแทนของที่ดินที่จะต้องเวนคืนกับเงินค่าทดแทนของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงนั้นเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ต้องแยกพิจารณาที่ดินคนละส่วนกันซึ่งในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์นี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ มิได้พิจารณาถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลงด้วยเมื่อโจทก์อุทธรณ์แต่เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้กล่าวถึงว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลง จะถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้ย่อมไม่ได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม กำหนดถึงกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นเมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสิน ที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่จะให้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่โจทก์ขอไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏทางนำสืบของโจทก์หรือจำเลยทั้งสองว่าได้มีการวางเงินค่าทดแทนเมื่อใด แต่อย่างช้าที่สุดต้องมีการวางเงินค่าทดแทนในวันที่ 13 มิถุนายน 2537ซึ่งเป็นวันที่ผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบจึงต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2537 ตามที่โจทก์ขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน12,870,000 บาท สำหรับสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 1,394,682.95 บาทโจทก์อุทธรณ์ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ในย่าน ที่มีความเจริญ การคมนาคมสะดวกมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ในปี 2533 ตารางวาละ120,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 90,000 บาทเป็นเงิน 38,610,000 บาท บ้านไม้ 2 ชั้น และเพิงไม้ชั้นเดียวมีราคา 4,000,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเพิ่มขึ้นอีก2,605,317.05 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 475 ตารางวาไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้มีราคาลดลงตารางวาละ60,000 บาท เป็นเงิน 28,500,000 บาท โจทก์ใช้สิ่งปลูกสร้างของโจทก์ในการประกอบธุรกิจโรงซ่อมรถยนต์ทำให้เลิกกิจการขาดรายได้จากการประกอบธุรกิจปีละ 80,000 บาท เป็นเวลา 5 ปีเป็นเงิน 400,000 บาท และจำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวม 41,215,317.05 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2537ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยทั้งสองแจ้งการวางเงินค่าทดแทนนับถึงวันฟ้องเป็น 3,778,070.71 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น73,893,387.76 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน73,893,387.76 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 70,115,317.05 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้รับหนังสือลงวันที่ 16 ธันวาคม 2536 แจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนหากโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทน ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม2537 พ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้วและเหตุที่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายส่วนนี้ และที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนสามารถใช้ประโยชน์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าขาดรายได้และอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในวันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,145,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นตารางวาละ 120,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์และแก้ฎีกาไม่ให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์นั้นเห็นว่า เมื่อคำนึงถึงพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับที่ดินแปลงอื่น ๆ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่เจ้าของที่ดินที่จะต้องเวนคืน กับสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ดังกล่าว ประกอบเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) แล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตารางวาละ35,000 บาท นั้น เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ฎีกาของโจทก์และอุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วย่อมหมายถึงโจทก์ได้อุทธรณ์ถึงเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาลดลงด้วยนั้นเห็นว่า เงินค่าทดแทนของที่ดินที่จะต้องเวนคืนกับเงินค่าทดแทนของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ต้องแยกพิจารณาที่ดินคนละส่วนกันและในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์นี้ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯมิได้พิจารณาถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลงด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์แต่เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้กล่าวถึงว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลง จะถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้ย่อมไม่ได้ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิรับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในอัตราสุงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินมิใช่ดอกเบี้ยคงที่และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยเพราะโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม และโจทก์มิได้นำสืบว่าธนาคารออมสินกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำอัตราสูงสุดเท่าใดและเมื่อใดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามบัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่จะให้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่โจทก์ขอไม่ได้ เนื่องจากไม่ปรากฏทางนำสืบของโจทก์หรือจำเลยทั้งสองว่าได้มีการวางเงินค่าทดแทนเมื่อใด อย่างไรก็ตามอย่างช้าที่สุดต้องมีการวางเงินค่าทดแทนในวันที่ 13 มิถุนายน 2537ซึ่งเป็นวันที่ผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.17จึงต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2537 ตามวันที่โจทก์ขอ”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่อัตราดอกเบี้ยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี