แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบเพียงการกระทำด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ในลักษณะที่ทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน และการไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเท่านั้น สถานที่ประกอบกิจการไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงในความผิดนี้ว่า จำเลยกระทำการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต และระบุถึงเว็บไซต์หรือเว็บเพจเพื่อการติดต่อซึ่งได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน มีสถานที่เกิดเหตุในแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน การบรรยายฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, 76, 78 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 38, 79, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้แผ่นดีวีดีของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายจำนวน 3 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 กับให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่าจำเลยจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยสภาพของกิจการดังกล่าวไม่มีการขอใบอนุญาตหรือออกใบอนุญาตโดยเฉพาะ ไม่อาจปฏิบัติตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้ (ที่ถูกยกฟ้องในส่วนนี้) ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 5 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นนายทะเบียนกลาง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ และเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมและดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมอันดี ทั้งย่อมรวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย และตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ว่า “ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน” และบัญญัติถึงหลักเกณฑ์เป็นแนวทางในการอนุญาตไว้ต่อไปในวรรคสองว่า “ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละแห่ง” ในวรรคสามว่า “การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” และยังมีมาตรา 41 บัญญัติว่า “ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 37 และมาตรา 38 ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ประกอบกิจการ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ในส่วนลักษณะความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งมีองค์ประกอบเพียงการกระทำด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ในลักษณะที่ทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน และการไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติจำกัดว่าต้องกระทำในสถานที่ใดเลยซึ่งย่อมตรงกับวัตถุประสงค์ในการให้หน่วยงานของรัฐสามารถควบคุมดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว โดยกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตามมาตรา 38 วรรคสองและวรรคสาม รวมทั้งมาตรา 41 ที่บัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตให้ออกให้สำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย รวมทั้งบังคับให้ต้องแสดงใบอนุญาตโดยเปิดเผยเห็นได้ง่าย ก็เห็นได้ว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเช่นกัน โดยทำให้เจ้าพนักงานสามารถทราบและตรวจสอบสถานที่ของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตได้โดยสะดวก ทั้งยังช่วยแยกให้เห็นได้โดยสะดวกว่า สถานที่ใดประกอบกิจการโดยได้รับใบอนุญาต และสถานที่ใดประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดังนี้ การมีสถานที่ประกอบการหรือไม่ จึงเป็นเพียงเงื่อนไขสำหรับนายทะเบียนในการพิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่อนุญาตเท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความจำกัดเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติถึงขนาดว่า หากสภาพของกิจการมีการประกอบกิจการโดยไม่มีสถานที่ประกอบการเป็นหลักแหล่งแน่นอนแล้วไม่เป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีแต่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไร้ประสิทธิภาพและไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นสถานที่ประกอบกิจการย่อมไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานนี้ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงในความผิดนี้ว่า จำเลยกระทำการในการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต และระบุถึงเว็บไซต์หรือเว็บเพจเพื่อการติดต่อโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน มีสถานที่เกิดเหตุในแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพก็ย่อมฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยกระทำการครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าว จึงมีความผิดตามฟ้องในฐานนี้ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการกำหนดโทษจำเลยนั้น เห็นว่า ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมีดีวีดีภาพยนตร์ของกลางเพียง 3 แผ่น ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจรอการกำหนดโทษนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 อีกฐานหนึ่งด้วย โดยเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษให้เรียงกระทงลงโทษในความผิดฐานนี้ต่างหากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษปรับ 200,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง