คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11707/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย หากนางสาว ว. เป็นพยานสำคัญของจำเลย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกพยานเสียแต่เนิ่น ๆ แต่จำเลยหากระทำไม่ ทั้งตามอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยก็มิได้อ้างถึงเหตุขัดข้องแต่ประการใด พฤติการณ์ของจำเลยส่อว่าประสงค์จะขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปเพื่อประวิงให้ชักช้า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
สัญญากู้เงินมีการขูดลบตกเติมข้อความในสัญญาหลายแห่งโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ เหตุดังกล่าวแต่ประการเดียวยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่า สัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม สำหรับสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยอ้างว่าแจ้งความดำเนินคดีเรื่องเอกสารปลอม จำเลยมิได้อ้างส่งต่อศาลชั้นต้น แต่เพิ่งแนบมาท้ายอุทธรณ์และฎีกา โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด จึงเป็นการยื่นเอกสารฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่อาจรับเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า จำเลยออกเช็ค และเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็ค มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยชอบหรือไม่ คดีนี้ได้ความว่าศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดพิจารณาวันที่ 3 มีนาคม 2549 และมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดโจทก์นำพยานเข้าสืบ 2 ปาก แล้วแถลงหมดพยานจำเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานแล้วแถลงว่ายังมีพยานอีก 1 ปาก คือนางสาววราภรณ์ แต่ไม่สามารถนำพยานมาเบิกความได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้งดสืบนางสาววราภรณ์ ซึ่งในวันเดียวกัน จำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นโดยอ้างว่า นางสาววราภรณ์รับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลโพธาราม ต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกมาเป็นพยาน เห็นว่า ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย หากนางสาววราภรณ์เป็นพยานสำคัญดังที่จำเลยอ้าง จำเลยชอบที่จะดำเนินการเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกพยานเสียแต่เนิ่น ๆ แต่จำเลยหากระทำไม่ ทั้งตามอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยมิได้อ้างถึงเหตุขัดข้องเช่นว่านั้นแต่ประการใด พฤติการณ์ของจำเลยส่อว่าประสงค์จะขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปเพื่อประวิงให้ชักช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ทำไว้ให้แก่โจทก์เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญากู้เงินมีการขูดลบตกเติมข้อความในสัญญาหลายแห่งโดยไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงเป็นเอกสารปลอมรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เห็นว่า ลำพังเหตุดังกล่าวแต่ประการเดียวยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่าสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ว่าปลอมสัญญากู้เงินดังกล่าวก็เป็นเพียงคำเบิกความของจำเลยหามีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน สำหรับสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่จำเลยอ้างว่าแจ้งความดำเนินคดีเรื่องเอกสารปลอม จำเลยมิได้อ้างส่งต่อศาลชั้นต้น แต่เพิ่งแนบมาท้ายอุทธรณ์และฎีกาโดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด จึงเป็นการยื่นเอกสารฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่อาจรับเป็นพยานหลักฐานได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับฟังเอกสารดังกล่าวและเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยไม่มีหลักฐานแต่เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share