คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานขับรถ มีหน้าที่นำพนักงานของ จำเลยที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงานส่งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต และร่างกายของบุคคล การดื่มเบียร์ซึ่งเป็นสิ่งมึนเมา ย่อมทำให้การปฏิบัติ หน้าที่บกพร่องและอาจก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้อื่นได้ ทั้งจำเลยก็ได้กำหนด ไว้ในมาตรการทางวินัยอันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า เป็นกรณีร้ายแรงด้วย ดังนี้ การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดย ได้ร่วมดื่มเบียร์กับพนักงานอื่น ๆ ในบริเวณโรงงานขณะปฏิบัติ หน้าที่ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย13,926 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,785.20 บาทค่าเสียหาย 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยระหว่างทำงานวันที่ 7 มกราคม 2541 เวลา 20.15 นาฬิกาโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถมีหน้าที่นำพนักงานที่ได้รับอุบัติเหตุระหว่างทำงานส่งโรงพยาบาล แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ได้ไปนั่งดื่มเบียร์ร่วมกับพนักงานในบริเวณโรงงาน การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงและเป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ดื่มเบียร์กับพนักงานจำเลยอื่น ๆ ในบริเวณโรงงานขณะปฏิบัติหน้าที่ การกระทำของโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ดื่มเบียร์ขณะปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณโรงงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานขับรถมีหน้าที่นำพนักงานของจำเลยที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงานส่งโรงพยาบาลซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของบุคคล การดื่มเบียร์ซึ่งเป็นสิ่งมึนเมาย่อมทำให้การปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและอาจก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้อื่นได้ การที่โจทก์ได้ร่วมดื่มเบียร์กับพนักงานอื่น ๆ ในบริเวณโรงงานขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ทั้งจำเลยก็ได้กำหนดไว้ในมาตรการทางวินัยเอกสารหมาย ล.6 ข้อ 15 ว่าเป็นกรณีร้ายแรงด้วย
พิพากษายืน

Share