คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16)เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้และตามมาตรา 17 ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ซึ่งอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้นอันหมายความว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 2 ขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ย่อมเป็นความผิดซึ่งหน้า เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน แล้วได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร เป็นการต่อเนื่องกันทันทีเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยเช่นกันซึ่งหากล่าช้าจำเลยที่ 1 อาจหลบหนีไปได้และจากการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ยังได้เมทแอมเฟตามีนอีกด้วย ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่รโหฐานก็ตาม ก็ย่อมมีอำนาจจับกุมได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 81(1),92(2) เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3)และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6 (7 ทวิ), 13 ทวิ,62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33และ 83 ริบของกลาง โดยในส่วนวัตถุออกฤทธิ์ให้ริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คืนธนบัตรจำนวน 1,000 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานและเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2407/2539 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าวด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 89 และ 116การกระทำของจำเลยทั้งสองที่มีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเป็นการกระทำอันเดียวกันตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นกรรมเดียวลงโทษจำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ริบของกลาง ในส่วนวัตถุออกฤทธิ์ริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คืนธนบัตรของกลางจำนวน 1,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของส่วนคำขอที่ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2407/2539 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวได้พิพากษาแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอส่วนนี้และให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 116 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรการที่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่คนละท้องที่และไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากไม่ใช่ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกันการสอบสวนกระทำไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า แม้จ่าสิบตำรวจสมคิด คำเพ็ง และจ่าสิบตำรวจนพรัตน์ใจชอบงาม เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16)จ่าสิบตำรวจสมคิดและจ่าสิบตำรวจนพรัตน์มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ และตามมาตรา 17 ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ซึ่งอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาดังกล่าวนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้นอันหมายความว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งต่างกับอำนาจสอบสวนความผิดอาญาของพนักงานสอบสวนที่ถูกจำกัดเขตอำนาจไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18, 19, 20 และ 21ดังนั้น จ่าสิบตำรวจสมคิดและจ่าสิบตำรวจนพรัตน์ถึงแม้จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนก็มีอำนาจที่จะไปจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่อยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรได้ เว้นแต่ลักษณะการจับที่ไม่มีหมายจับเป็นไปโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78, 81 และ 92 หรือไม่เท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จ่าสิบตำรวจสมคิดนั้นย่อมเป็นความผิดซึ่งหน้า เมื่อจำเลยที่ 2ถูกจับกุมแล้วได้นำจ่าสิบตำรวจสมคิดและจ่าสิบตำรวจนพรัตน์ไปจับกุมจำเลยที่ 1 เป็นการต่อเนื่องกันทันทีเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยเช่นกันซึ่งหากล่าช้า จำเลยที่ 1 ก็อาจหลบหนีไปได้ และจากการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ยังได้เมทแอมเฟตามีนอีก 95 เม็ด ด้วย ดังนั้นแม้จ่าสิบตำรวจสมคิดและจ่าสิบตำรวจนพรัตน์เข้าไปจับจำเลยที่ 1ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่รโหฐานก็ตามก็ย่อมมีอำนาจที่จะจับกุมได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 81(1), 92(2) เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share