แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยอ้างว่าผู้คัดค้านกระทำการทุจริตต่อหน้าที่การงานอันเป็นความผิดร้ายแรงนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านยังให้การต่อสู้อยู่ว่าไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่ ศาลแรงงานจะสั่งงดสืบพยานผู้ร้องโดยนำคำให้การของพยานชั้นสอบสวน ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนตลอดจนความเห็นแย้งมาวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้คัดค้านมิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรงถึงขนาดเลิกจ้างหาได้ไม่ เพราะไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับรองถึงความมีอยู่ ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว ถือว่าเป็นเอกสารที่ผู้ร้องส่งศาลโดยไม่มีพยานบุคคลประกอบ ไม่มีผู้ รับรอง ชอบที่จะดำเนินการสืบพยานในประเด็นแห่งคดีต่อไป.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2523ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 นายพิเชษฐ์ ผิวแก้ว ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่การงานของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตและเป็นความผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้ร้องได้ตั้งกรรมการขึ้นทำการสอบสวนแล้วขออนุญาตเลิกจ้างนายพิเชษฐ์ ผิวแก้วและลงโทษด้วยการไล่ออก
นายพิเชษฐ์ ผิวแก้วผู้คัดค้านให้การว่าไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่การงาน และไม่เคยกระทำผิดอย่างร้ายแรง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะไล่จำเลยออก ผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ผู้ร้องอ้างมานั้นไม่ถูกต้องและหาได้เป็นที่สุดที่จะไล่ผู้คัดค้านออกได้ไม่ ผู้ร้องเคยนำเรื่องนี้ฟ้องผู้คัดค้านยังศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขแดงที่4025/2529 ระหว่างองค์การแบตเตอรี่ฯ โจทก์ นายพิเชษฐ์ ผิวแก้วกับพวก จำเลย คดียังไม่ถึงที่สุด และในคดีดังกล่าวผู้คัดค้านมีทางจะชนะคดีได้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะไล่โจทก์ออก ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นว่า มีเหตุที่ผู้ร้องจะลงโทษนายพิเชษฐ์ ผิวแก้ว ผู้คัดค้านได้หรือไม่ สถานใด
ในวันนัดสืบพยาน ศาลแรงงานกลางฟังคำแถลงของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงให้งดสืบพยานของคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่ากรณียังไม่มีเหตุที่จะลงโทษเลิกจ้างนายพิเชษฐ์ ผิวแก้ว ได้ตามคำร้อง อย่างไรก็ดีหากองค์การแบตเตอรี่จะลงโทษทางวินัยแก่นายพิเชษฐ์ ผิวแก้วซึ่งต้องขออนุญาตศาลแล้วก็ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนลง 1 ขั้นตามที่ศาลได้ชี้เป็นประเด็นไว้
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานผู้ร้อง ศาลแรงงานกลางได้สอบถามผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานของคู่ความเสีย แต่โดยที่คดีมีประเด็นว่า มีเหตุที่ผู้ร้องจะลงโทษผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านกระทำการทุกจริตต่อหน้าที่การงานเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งองค์การฯ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ผู้คัดค้านให้การต่อสู้คดีว่า ไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่การงานและไม่เคยกระทำผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะไล่ผู้คัดค้านออก ผลของการสอบสวนของคณะกรรมการที่อ้างมานั้นไม่ถูกต้อง และหาได้เป็นที่สุดที่จะไล่ผู้คัดค้านออกได้ไม่และตามคำแถลงของผู้คัดค้านที่ศาลสอบจดไว้ในวันนำสืบพยานผู้ร้องปรากฏว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529(สำนวนอันดับ 14) ว่าผู้คัดค้านปฏิเสธว่ามิได้มีเจตนาหรือพฤติการณ์ทุจริตแต่อย่างใด โดยยังคงโต้แย้งข้อกล่างอ้างของผู้ร้องตามคำร้องอยู่อีกทั้งเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยพนักงาน พ.ศ. 2522 เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นบันทึกข้อความลงวันที่ 17 กันยายน 2529 เรื่องความเห็นแย้งสรุปผลการสอบสวนทางวินัย และเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นบันทึกข้อความ ลงวันที่ 10กันยายน 2529 เรื่องผลการสอบสวนทางวินัย ที่ผู้ร้องส่งศาลในวันนัดสืบพยานก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับรองถึงความมีอยู่ ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว จึงเป็นเอกสารที่ผู้ร้องส่งศาลโดยไม่มีพยานบุคคลประกอบ ไม่มีผู้รับรอง และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีโอกาสชี้แจงอธิบายเอกสารนั้นๆ และผู้ร้องเองก็ยังอุทธรณ์คัดค้านว่าผู้คัดค้านทุจริตต่อหน้าที่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงต้องถูกลงโทษไล่ออกตามข้อบังคับองค์การแบตเตอรี่ว่าด้วยพนักงานพ.ศ. 2522 เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานผู้ร้องเสียนั้น จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วย5ระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปให้ดำเนินการสืบพยานในประเด็นแห่งคดี แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปความต่อไป”.