แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ‘ผู้รักษาการแทน’ ตามกฎกระทรวงมหาดไทยดั่งกล่าวหมายถึงผู้รักษาราชการแทนโดยธรรมดา เช่นไม่มีตัวนายอำเภอหรือนายอำเภอไม่ได้มาปฏิบัติราชการผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนทำงานแทน เรียกว่าเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีตัวนายอำเภอและนายอำเภอมาปฏิบัติราชการอยู่ แม้จะมีงานมากและนายอำเภอได้สั่งให้ปลัดอำเภอช่วยทำแทนให้งานสำเร็จลุล่วงไปโดยรวดเร็วผู้รับคำสั่งจากนายอำเภอคือปลัดอำเภอก็เป็นแต่เพียงผู้ทำงานแทนนายอำเภอไม่ใช่เป็นผู้รักษาราชการแทน
เมื่อปลัดอำเภอไม่ใช่เป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอแต่ปลัดอำเภอได้ลงนามออกบัตรประชาชนให้แก่ผู้อื่นไป การกระทำของปลัดอำเภอก็เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ปลัดอำเภอไม่มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา230
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2500)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นปลัดอำเภอและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว ฐานให้และรับสินบนกระทงหนึ่ง และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ทำหนังสือราชการเอาเนื้อความเท็จมาจดเป็นความจริง คือ ออกบัตรประชาชนให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นข้อความเท็จอีกกระทงหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ปฏิเสธต่อสู้ว่า มิได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้มีหน้าที่ตามฟ้อง ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนต่างด้าวและมิได้รับสินบนทั้งเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนไทยตามหลักฐานที่เจ้าหน้าที่เสนอมา
จำเลยที่ 2 รับว่า จำเลยที่ 2 มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจริง แต่ปฏิเสธว่ามิใช่คนต่างด้าวแต่เป็นคนไทย เกิดในประเทศไทยกับตัดฟ้องว่าฟ้องเคลือบคลุม
ศาลอาญาพิจารณาแล้ว เห็นว่า เรื่องรับสินบน หลักฐานไม่พอส่วนเรื่องจดข้อความเท็จในคำร้อง ทะเบียนบัตรประชาชน จำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาออกบัตรประชาชนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะได้รับบัตรประชาชนจริง การที่จำเลยที่ 1 ออกบัตรประชาชนให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการจดข้อความเท็จ ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 230 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยได้ บัญญัติถึงความผิดของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ที่จะทำหนังสือราชการนั้น แต่ตามกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัติบัตรประชาชน2486 (พ.ศ. 2495) ว่า การออกบัตรประชาชนเป็นอำนาจของนายอำเภอหรือผู้รักษาการแทนโดยตรง ผู้ใดอื่นจะออกไม่ได้ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ในการนี้ ไม่มีอำนาจที่จะทำบัตรประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 คนเดียว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายคงมีเพียงว่า การที่นายอำเภอสั่งให้จำเลยที่ 1 (ซึ่งเป็นปลัดอำเภอ) ลงนามออกบัตรประชาชนแทนจะถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาราชการแทนได้หรือไม่
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 42 จะบัญญัติว่า “ถ้านายอำเภอไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามปกติและมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้รักษาราชการแทน ให้หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนรักษาราชการแทน” ก็ดี แต่กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประชาชน พ.ศ. 2486 ก็มีความว่า “ฯลฯ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้น ๆ ฯลฯ”คำว่า “ผู้รักษาการแทน” ตามกฎหมายนี้หมายถึงผู้รักษาราชการแทนโดยธรรมดา เช่นไม่มีตัวนายอำเภอหรือนายอำเภอไม่ได้มาปฏิบัติราชการ ผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนทำงานแทน เรียกว่าเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีตัวนายอำเภอและนายอำเภอมาปฏิบัติราชการอยู่ แม้จะมีงานมากและนายอำเภอได้สั่งให้ปลัดอำเภอช่วยทำแทนเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปโดยรวดเร็ว เช่นคดีเรื่องนี้ ผู้รับคำสั่งจากนายอำเภอคือ จำเลยที่ 1 ก็เป็นแต่เพียงผู้ทำงานแทนนายอำเภอหาใช่เป็นผู้รักษาราชการแทนไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอ แต่จำเลยที่ 1 ได้ลงนามออกบัตรประชาชนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230
พิพากษายืน