แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ น. ขับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดชัยนาทตามคำสั่งของ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พ. และเป็นนายจ้างของ น. เพื่อพา พ. ไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายกรณีที่ พ. เคยขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนบริษัท พ. เป็นการไปเพื่อตกลงชดใช้ค่าเสียหายประนีประนอมยอมความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สำหรับการทำละเมิดของ พ. ที่บริษัท พ. อาจต้องรับผิดในความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77, 425, 427 การไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ดังนั้น แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างแต่ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง น. และ พ. ถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงไม่ได้เกิดในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่ น. และ พ. ถึงแก่ความตายจึงถือไม่ได้ว่าเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ที่ 43/2545 และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่นายนพดลถึงแก่ความตายจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นมารดานายนพดล ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท กับค่าคอมมิชชั่นเดือนละประมาณ 25,000 บาท บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด มีนายไพโรจน์เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2543 ระหว่างนายไพโรจน์เดินทางไปทำงานให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด นายไพโรจน์ได้ขับรถยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของนางเพ็ญ ที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นเหตุให้นางเพ็ญถึงแก่ความตาย รถยนต์ได้รับความเสียหาย นายไพโรจน์ได้เจรจาขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายดอกบัวสามีนางเพ็ญ แต่ตกลงกันไม่ได้จึงนัดเจรจากันอีกในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2543 เวลา 14 นาฬิกา ครั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2543 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา นายไพโรจน์และนายนพดลได้ร่วมกันเดินทางด้วยรถยนต์ของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอหันคาเพื่อตกลงค่าเสียหายกับนายดอกบัว โดยนายไพโรจน์ให้นายนพดลเป็นผู้ขับรถ วันเดียวกันเวลาประมาณ 14 นาฬิกา ขณะนายนพดลขับรถอยู่บนถนนสายชัยนาท-สุพรรณบุรี ในท้องที่หมู่ที่ 9 ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ได้มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายไพโรจน์และนายนพดลถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า นายนพดลถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ หรือตามคำสั่งของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า การที่นายไพโรจน์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของนางเพ็ญในระหว่างไปทำงานให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด เป็นเหตุให้นางเพ็ญถึงแก่ความตาย รถยนต์ได้รับความเสียหาย นอกจากถูกกล่าวหาว่าทำความผิดอาญาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว ยังอาจเป็นการทำละเมิดในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลทำให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ต้องร่วมกับนายไพโรจน์รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 มาตรา 425 และ มาตรา 427 การตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องเดิมระงับสิ้นไป คู่กรณีต้องผูกพันตามที่ตกลงกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และมาตรา 852 ดังนั้น หากนายไพโรจน์สามารถเจรจาต่อรองให้นายดอกบัวผู้เสียหายยอมลดค่าเสียหายลงได้มากเพียงใดย่อมทำให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ได้รับประโยชน์ด้วยเพียงนั้น จึงถือได้ว่าการไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายของนายไพโรจน์เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ดังนั้น การที่นายไพโรจน์สั่งให้นายนพดลขับรถในวันเกิดเหตุ แม้นายนพดลจะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง แต่นายนพดลก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายไพโรจน์และนายนพดลถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจราเรื่องค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ไม่ได้ถูกยิงในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง ด้วยเหตุดังกล่าวแม้นายไพโรจน์จะเดินทางไปทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างและนายนพดลได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง จึงถือไม่ได้ว่านายไพโรจน์และนายนพดลถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด หรือตามคำสั่งของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง นายนพดลจึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน