คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้อ้างมาตรา 91 ตรี แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด และความผิดดังกล่าวมีโทษสูงกว่าโทษความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และเป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 45,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและผู้เสียหายทั้งสามขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหานี้จึงระงับไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายทั้งสามจนพอใจ สมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ฟ้องฐานร่วมกันจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น คำฟ้องโจทก์ในข้อ ข. ตอนหลังบรรยายว่าความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ตามที่หลอกลวงได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งสาม คงมีเจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษไม่ได้ ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ จึงเป็นอันระงับไป และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอโดยมิได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี แล้ว แม้จะมิได้ระบุมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ก็เห็นได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวด้วย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาหรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และ (6) เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดและความผิดดังกล่าวมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และเป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้ ทั้งการกระทำความผิดของจำเลยก็มิได้เป็นเรื่องของการรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share