คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่าเรียกร้องทวงถามให้ชำระหนี้แจ้งบังคับจำนองหรือจำนำดำเนินคดีฟ้องร้องแก้ต่างทั้งคดีแพ่งและคดีอาญารวมตลอดถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษและมอบคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในนามของธนาคารต่อพนักงานสอบสวนตลอดทั้งการเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในคดีแพ่งคดีอาญาดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีและขอรับชำระหนี้คดีล้มละลายเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการติดตามทวงถามและฟ้องร้องเกี่ยวกับคดีแพ่งสามัญโดยตรงเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจได้รับชำระหนี้เท่านั้นไม่มีข้อความใดที่ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายและการฟ้องคดีล้มละลายก็ไม่ใช่การฟ้องเรียกหนี้ที่ค้างชำระกันอยู่แต่เป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องตกเป็นผู้ไร้ความสามารถในบางประการโดยเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งเป็นการนอกเหนือข้อความในหนังสือมอบอำนาจโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์โดยนายตามใจ ขำภโตกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ โอเจริญผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 812/2522 ของศาลชั้นต้น ซึ่งได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2522 โดยในคดีดังกล่าวจำเลยยอมชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 536,789.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของเงิน 300,000 บาท เบื้ยปรับในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของเงิน 463,172.34 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของเงิน 73,625.70 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจำเลยชำระแก่โจทก์แล้ว20,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยอาจผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ได้แต่จะต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในปี 2523 นับแต่ศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเลยโจทก์จึงยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 528 และที่ดินตราจองเลขที่ 925 ของจำเลยออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2529ได้เงินสุทธิ 412,695 บาท และต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529โจทก์ได้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิอีก18,630 บาท เมื่อหักใช้หนี้โจทก์แล้วปรากฏว่าในวันที่ 26พฤศจิกายน 2529 จำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์รวม 533,778.56 บาทเมื่อคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 738,908.59 บาทจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ทั้งจำเลยได้ไปเสียจากเคหสถาน โดยซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไปโดยวิธีอื่น โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้ผู้ใดฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามขายทอดตลาดล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 ที่มอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแพ่ง ย่อมหมายความรวมถึงคดีแพ่งทั้งหมด และคดีล้มละลายก็เป็นคดีแพ่งประเภทหนึ่ง ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น พิเคราะห์แล้ว หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 มีข้อความว่า”เรียกร้องทวงถามให้ชำระหนี้ แจ้งบังคับจำนองหรือจำนำดำเนินคดี ฟ้องร้องแก้ต่างทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา รวมตลอดถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษ และมอบคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในนามของธนาคารต่อพนักงานสอบสวน ตลอดทั้งการเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในคดีแพ่ง คดีอาญา ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี ขอรับชำระหนี้คดีล้มละลาย ฯลฯ”เห็นว่า ข้อความตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการติดตามทวงถามและฟ้องร้องเกี่ยวกับคดีแพ่งสามัญโดยตรง เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจได้รับชำระหนี้เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่ว่า ให้มีอำนาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ด้วยแต่ไม่มีข้อความใดที่จะแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย และการฟ้องคดีล้มละลายก็ไม่ใช่การฟ้องเรียกหนี้ที่ค้างชำระกันอยู่ แต่เป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องตกเป็นผู้ไร้ความสามารถในบางประการโดยเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นการนอกเหนือข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share