คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้น มิใช่ว่า ถ้าจำเลยออกเช็คแล้วไม่มีเงินใช้ตามเช็คจะเป็นความผิดอาญาเสมอไป จะต้องมีกรณีตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ คือ 1 ออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เจตนาดังกล่าวนี้เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความผิด เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังแล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ร่วมเถียงว่ามีเจตนาเช่นนั้น เป็นการเถียงข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดเกิดขึ้นหรือไม่จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง. (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 31/2509).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพร สั่งจ่ายเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทให้แก่บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัดสาขาหาดใหญ่ บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด สาขาหาดใหญ่ ได้ส่งเช็คไปรับเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นเพราะเงินที่จำเลยฝากไว้มีไม่พอจ่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
นายลิบ แซ่จิว ผู้จัดการบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด สาขาหาดใหญ่ ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่กรณีไม่มีเจตนาจะให้มีการใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมและจำเลยมิได้มีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การที่โจทก์ร่วมฎีกาโต้เถียงว่า ข้อเท็จจริงอย่างนี้ต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนาอย่างนั้นก็เป็นการเถียงเพื่อให้ศาลเชื่อหรือไม่เชื่อว่าจำเลยประสงค์ต่อผลอย่างไรในการออกเช็คนั้นการที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มิใช่ว่าถ้าจำเลยออกเช็คแล้วไม่มีเงินตามเช็ค เป็นความผิดอาญาเสมอไป จะต้องมีกรณีตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ คือ ๑ ออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เจตนาดังกล่าวนี้เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งซี่งเป็นเหตุให้เกิดความผิด เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังแล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ร่วมเถียงว่ามีเจตนาเช่นนั้น เป็นการเถียงข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดเกิดขึ้นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ร่วม

Share