คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับของโจทก์ระบุว่า ถ้าเงินที่นำไปคราวหนึ่งเป็นตัวเงินสดรวมกันเกิน 20,000 บาท ให้มีกรรมการประกอบด้วยพนักงานการเงินกับพนักงานชั้นหัวหน้าหรือเทียบเท่าอีกไม่น้อยกว่า 2 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 นาย พร้อมกับอาวุธปืนร่วมกันเป็นคณะ ห้ามนำเงินไปแต่ลำพังผู้เดียว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 โดยลำพังแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินค่าข้าวสารเป็นจำนวนสูงถึง140,250 บาท จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว และเป็นช่องทางให้เงินดังกล่าวต้องเกิดการสูญหายขึ้นอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์
โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12กุมภาพันธ์ 2529 จะถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วในวันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอผลการสอบสวนให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2528 คดีที่โจทก์นำมาฟ้อง จึงยังไม่เกิน 1 ปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจำหน่ายส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงินจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ไปส่งข้าวสารและเก็บเงินค่าข้าวสารจากกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2 ค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2 ชำระเงินค่าข้าวสารเป็นเช็คจำนวนเงิน 140,250 บาท จำเลยที่ 2 นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารแล้วถือเงินสดดังกล่าวกลับกรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยนำเงินติดตัวออกจากบ้านพักโดยสารรถยนต์ประจำทางมายังที่ทำงาน ระหว่างทางเงินดังกล่าวสูญหายไปทั้งหมดเพราะถุงกระดาษบรรจุเงินดังกล่าวถูกคนร้ายกรีดถุงขณะโดยสารบนรถประจำทาง การกระทำของจำเลยทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ที่ให้มีพนักงานคนอื่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมคณะไปในการรับเงินด้วยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 140,250 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิด ความเสียหายเกิดจากจำเลยที่ 2 โดยตรง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า มูลคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2527โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 พ้นกำหนดหนึ่งปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งด้วยวาจาให้จำเลยที่ 2 ไปส่งข้าวสารและเก็บเงินที่จังหวัดปราจีนบุรี แม้คำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้แต่ก็ถือปฏิบัติมาเป็นเวลาหลายปีแล้วโดยโจทก์มิได้ทักท้วงถือว่าโจทก์ยินยอมโดยปริยายให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้นเมื่อเงินหายไปจำเลยที่ 2 ได้รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และนำความไปแจ้งที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 140,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ. 2518 ข้อ 5ระบุว่า “การไปรับเงินที่เบิกถอนจากธนาคารหรือจากสถานที่จ่ายเงินแห่งอื่นที่ไกลจากที่ประจำทำงานนั้น ให้ปฏิบัติตามข้อ 16-17 และ 18โดยอนุโลม” และตามข้อบังคับข้อ 16 ระบุว่า “การนำเงินไปฝากหรือส่งธนาคารหรือไปจ่าย ณ สถานที่แห่งอื่นซึ่งอยู่ไกลจากที่ประจำทำงานถ้าเงินที่นำไปคราวหนึ่งเป็นตัวเงินสดรวมกันเกิน 20,000 บาทให้มีกรรมการประกอบด้วยพนักงานการเงินกับพนักงานชั้นหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าอีกไม่น้อยกว่า 2 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 นายพร้อมกับอาวุธปืน ควบคุมร่วมกันไปเป็นคณะ ถ้าตัวเงินหรือเช็คเงินสดที่นำไปรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ให้พนักงานการเงินกับพนักงานชั้นหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าอีกหนึ่งนายเป็นกรรมการควบคุมร่วมกันไปห้ามนำเงินไปแต่ลำพังผู้เดียว” และความในข้อบังคับฯ ดังกล่าวข้อ 17 ระบุว่า “กรรมการแต่ละคนดังกล่าวในข้อ 16 มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในจำนวนเงินที่นำไปส่งหรือไปรับในขณะที่เงินอยู่ในความอารักขา ห้ามกรรมการแยกย้ายจากกันเป็นอันขาด” ข้อบังคับขององค์การโจทก์มีอยู่ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 โดยลำพังแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินค่าข้าวสารเป็นจำนวนสูงถึง 140,250บาท จึงเป้นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับฯ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และเป็นช่องทางให้เงินจำนวนดังกล่าวต้องเกิดการสูญหายขึ้นอันเป็นเหตุให้องค์การโจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า องค์การโจทก์ได้มีคำสั่งที่333/2527 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่ง ตามคำสั่งดังกล่าวปรากฎว่าองค์การโจทก์ได้รู้ถึงการลเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตังแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12กุมภาพันธ์ 2529 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่องค์การโจทก์มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบในทางแพ่งตามเอกสารหมาย จ.9 นั้น จะถือว่าองค์การโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วหาได้ไม่ และในปัญหาดังกล่าวนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอผลการสอบสวนให้นายสวราช สัจจมาร์คผู้อำนวยการองค์การโจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินที่สูญหายไปแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2528 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกันศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share