คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4779-4781/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่อันเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ศาลฎีกาก็อาจยกขึ้นพิจารณาได้แต่หากศาลฎีกาเห็นสมควรไม่รับวินิจฉัยก็ไม่รับวินิจฉัยให้ได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ขาดไป ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยหักค่าจ้างโจทก์บางส่วนและหักจากเงินประกันความเสียหายของโจทก์บางส่วนซึ่งเป็นการไม่ชอบ เมื่อเงินประกันความเสียหายคือเงินค่าจ้างของโจทก์ที่จำเลยหักไว้แต่ละเดือน อันถือได้ว่าเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งด้วยเช่นนี้ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันความเสียหายที่จำเลยหักจากโจทก์ไปดังกล่าว จึงหาเป็นการ เกินคำขอไม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาคดีสามสำนวนเข้าด้วยกัน

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2529เดือนมีนาคม 2530 และเดือนเมษายน 2530 จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์ขาดไปคนละ218 บาท 979 บาท 1,047 บาทตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะทรัพย์สินของบริษัทที่จำเลยสั่งโจทก์ไปรักษาความปลอดภัยหายไป จำเลยจึงหักค่าจ้างโ่จทก์และหักเงินประกันของโจทก์ทั้งสามบางส่วนด้วย อันเป็นการหักเงินตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยและตามระเบียบการทำงาน เป็นการชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามมิได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ทำให้เกิดเหตุแต่อย่างใด เหตุทรัพย์สินหายมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยหักค่าจ้างและเงินประกันของโจทก์ไม่ได้ เงินประกันที่หักไว้เป็นของโจทก์ทั้งสาม หากจะคืนให้ก็เป็นการไม่เกินคำขอ พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 2,244 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ตามข้อ จ. ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลาง เพราะจำเลยได้หักเงินประกันความเสียหายอีกด้วย จึงเป็นคดีแพ่งสามัญ ชอบที่โจทก์จะฟ้องยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ข้อนี้ เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ในเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การศาลฎีกาอาจยกขึ้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ซึ่งต้องนำมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 แต่สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่รับวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัย

ในอุทธรณ์ข้อนี้ จำเลยยังอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 เพียงคนละ 1,640 บาท และหักค่าจ้างของโจทก์ที่ 2จำนวน 1,261 บาท เท่านั้น ส่วนที่เหลือหักจากเงินประกันความเสียหาย โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าจ้างมิใช่เรียกเงินประกัน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันรวมไปด้วยกัน จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายข้อนี้เห็นว่า เงินประกันความเสียหายที่โจทก์ทั้งสามวางแก่จำเลยนั้น เนื้อแท้คือเงินค่าจ้างของโจทก์ทั้งสามที่จำเลยหักไว้แต่ละเดือน เดือนละ 200 บาทนั่นเอง เงินประกันจึงถือได้ว่าเป็นค่าจ้างด้วยส่วนหนึ่ง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่

พิพากษายืน

Share