แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรสามคนซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล. ตกลงจัดผลประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวโดยการให้เช่าและให้บุตรคนหนึ่งเป็นผู้เก็บค่าเช่าส่งมอบให้บิดามารดาคนละครึ่งจนตลอดชีวิตของบิดามารดา. โดยหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าภาษีออกเสียก่อน. สัญญานี้เป็นสัญญาจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374. เมื่อบิดาแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้ว. แม้ต่อมาบุตรทั้งสามคนนั้นจะตกลงกันเลิกสัญญาและโอนขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไป. บุตรซึ่งรับเป็นผู้เก็บค่าเช่าก็ยังต้องรับผิดส่งเงินให้แก่บิดาไปจนตลอดชีวิต. โดยคำนวณเงินที่จะต้องส่งจากส่วนเฉลี่ยของค่าเช่าที่เคยเก็บหักด้วยส่วนเฉลี่ยค่าภาษีที่เคยเสีย. บุตรหาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่.
การที่ศาลประมาณเงินค่าเช่าที่บิดาควรได้จากบุตรโดยวินิจฉัยจากจำนวนค่าเช่าสูงสุดกับต่ำที่สุดเป็นหลักคำนวณส่วนเฉลี่ยนั้น. มิใช่เป็นการกะประมาณเอาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438. ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในกรณีละเมิด.
การที่บุตรทั้งสามคนโอนขายทรัพย์ซึ่งตกลงกันจัดผลประโยชน์ให้แก่บุคคลภายนอกไป. จะอ้างว่าค่าเช่าที่โจทก์จะได้ต้องระงับโดยเป็นหนี้ที่พ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 หาได้ไม่. เพราะบุตรโอนขายทรัพย์ไปเอง.
จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบจำนวนค่าเช่าไม่ได้แน่นอนสมฟ้อง. แต่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงในฎีกาเลยว่า. โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องประการใดบ้าง. เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249. ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามคำพิพากษาตามสัญญายอมความในคดีแพ่งแดงของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์มีเจตนายอมรับเอาประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้ว แต่จำเลยส่งไม่ครบยังค้างชำระรวม 60,792.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยต่อสู้ว่า ตามสัญญายอมความ เงินที่จำเลยต้องส่งให้โจทก์ไม่เท่ากันทุกเดือน แล้วแต่ค่าเช่า ต่อมาจำเลยกับร้อยตำรวจตรีวีระศักดิ์ และนางรำไพได้ขายทรัพย์ที่ให้เช่า ค่าเช่าที่จะส่งให้โจทก์จึงไม่มีต่อไป ทั้งจำเลยกับพวกได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอยกเลิกสัญญายอมแล้ว เพราะเป็นสัญญาฝ่ายเดียว และได้บอกโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และคดีขาดอายุความโจทก์ฟ้องซ้ำ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินรวม 39,392 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 1608 พร้อมห้องแถว 30กว่าห้องและบ้านประมาณ 4 หลังสำหรับให้เช่า เป็นของโจทก์ และนางริ้วภริยาซึ่งได้โอนยกให้แก่ร้อยตรีวีระศักดิ์ นางรำไพและจำเลยผู้เป็นบุตรทั้งสาม ต่อมาร้อยตรีวีระศักดิ์และนางรำไพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งแยกที่ดินนี้ แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจัดผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาท คือขณะนี้มีค่าเช่าเก็บได้อยู่ประมาณเดือนละ 3,000 บาท ยอมให้จำเลยเป็นผู้เก็บค่าเช่าส่งมอบให้แก่นายอิน นางริ้ว บิดามารดา คนละครึ่งจนตลอดชีวิตของนายอิน นางริ้ว โดยหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินออกคนละครึ่งด้วย และจำเลยยอมให้ผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาทรวมทั้งส่วนได้ของร้อยตรีวีระศักดิ์คิดเป็นเงินเดือนละ 400 บาทแก่นางรำไพโดยหักจากค่าเช่าส่วนแบ่งของนางริ้วลง 400 บาท เป็นอันนายอินโจทก์คดีนี้ได้รับเดือนละประมาณ 1,500 บาท นางริ้วได้ประมาณเดือนละ1,100 บาท และนางรำไพได้เดือนละ 400 บาท ต่อมานางริ้วตายและต่อมาร้อยตรีวีระศักดิ์ นางรำไพ และจำเลยได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้มีชื่อไป โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าส่วนได้ของโจทก์เดือนละ 1,500 บาทตั้งแต่เดือนมกราคม 2501 ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยส่งเงินให้โจทก์แล้วบางส่วนเพิ่งส่งไม่ครบนับแต่ปี 2505 1. จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาททุกเดือน แต่ตามสัญญายอมความข้อ 2 ได้ระบุให้จำเลยหักค่าภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินออกเสียก่อน เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้แน่นอนว่าค่าเช่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นจำนวนเท่าใด ก็ควรถือว่าโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องและยกฟ้องเสีย และการที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์กะประมาณเงินค่าเช่าให้โจทก์นั้น ศาลจะกะประมาณได้แต่ค่าเสียหายฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ศาลจะนำมาตรานี้มาใช้กะประมาณค่าเช่าให้โจทก์ไม่ได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลล่างประมาณเงินค่าเช่าที่ควรได้แก่โจทก์นั้น ได้วินิจฉัยจากจำนวนค่าเช่าสูงสุดกับต่ำที่สุดเป็นหลักคำนวณส่วนเฉลี่ย มิได้กะประมาณเอาตามมาตรา 438 ดังจำเลยฎีกาประการใด ส่วนข้อที่ฎีกาว่า โจทก์นำสืบจำนวนค่าเช่าไม่ได้แน่นอนสมฟ้องนั้น จำเลยมิได้บรรยายข้อเท็จจริงในฎีกาเลยว่า โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องประการใดบ้าง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ข้อที่ฎีกาว่า ตามสัญญายอมความข้อ 2 ระบุให้จำเลยหักค่าภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินออกจากเงินค่าเช่าที่จะต้องส่งให้โจทก์นั้นถูกต้อง ที่ศาลชั้นต้นว่าโจทก์จำเลยไม่นำสืบให้ศาลเห็นว่าหักภาษีกันโดยวิธีใด ศาลจึงไม่คิดหักค่าภาษีให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเมื่อจำเลยโอนขายทรัพย์สินไปแล้ว ศาลยังคำนวณค่าเช่าให้จำเลยต้องรับผิดได้ ก็ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีที่จะต้องเสียให้ได้เช่นเดียวกัน ศาลฎีกาคำนวณส่วนเฉลี่ยแล้ว เห็นสมควรหักค่าภาษีให้จำเลยเดือนละ 120 บาท ในระยะ 32 เดือน เป็นเงินรวม 3,840 บาทหักออกจากเงินค่าเช่าที่คำนวณไว้คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระให้โจทก์ 35,552 บาท 2. จำเลยฎีกาว่า เมื่อสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดหนี้ได้ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปแล้วค่าเช่าที่โจทก์จะได้ ก็ต้องระงับไปเพราะเป็นหนี้ที่พ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกับร้อยตรีวีระศักดิ์ และนางรำไพได้โอนขายทรัพย์รายนี้ไปเอง จำเลยอ้างว่าเป็นหนี้ที่พ้นวิสัยไม่ได้เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดส่งเงินค่าเช่าให้โจทก์อยู่จนตลอดชีวิตตามสัญญายอมความอยู่แล้ว 3. จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงตามสัญญายอมที่จำเลยจะให้เงินแก่บิดามารดา มิใช่เป็นหนี้สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374และเป็นสัญญาที่จำเลยแสดงเจตนาฝ่ายเดียว จำเลยย่อมมีอำนาจยกเลิกเพิกถอนได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการโต้เถียงยืนถ้อยคำในมาตรา 374, 375ข้อที่อ้างว่าจำเลยกับร้อยตรีวีระศักดิ์ นางรำไพ ได้ยื่นคำร้องขอยกเลิกสัญญายอมในคดีแดงที่ 2/2499 และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์ว่าตามใจมึง เป็นการยอมรับข้อเสนอของจำเลยแล้วนั้นก็รับฟังไม่ได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์35,552 บาท.